22 ธันวาคม 2564…สมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) แนะนำพิริยะ เข็มพล ประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ กรรมการอิสระที่จะเป็นเรดาร์คอยจับทิศทางเป้าหมายต่าง ๆ ด้าน ESG ของโลกให้กับคณะกรรมการ Sustainability และทีมผู้บริหาร รวมทั้งเป็นหางเสือช่วยกำกับ บ้านปูในฐานะผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลายในระดับนานาชาติ เพื่อส่งมอบ “Smarter Energy for Sustainability: อนาคตพลังงานเพื่อความยั่งยืน”
นับเป็นการเพิ่มโครงสร้างการบริหารงาน
คณะกรรมการ บมจ.บ้านปู ครั้งสำคัญ
สมฤดี กล่าวถึงบ้านปู ผู้นำพลังงานหลากหลายระดับนานาชาติ การดำเนินงานบ้านปูเป็นบริษัทไทยไม่กี่บริษัทที่ออกไปดำเนินงานต่างประเทศ 9 ประเทศ ดังนั้นไม่ว่าบริษัทจะอยู่ประเทศใดก็ตาม ชนินทร์ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการ บมจ.บ้านปู จะบอกว่า เราถือธงชาติไทยไปด้วย
“บ้านปูเป็นผู้นำด้านพลังงานของประเทศไทยที่ดำเนินธุรกิจภายใต้หลักการ ESG และเป็นบริษัทแรก ๆ ในเอเชียที่มีคณะกรรมการ ESG ขึ้นมา”
พิริยะ เข็มพล ประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ เคยรับราชการเป็นกงสุลไทยประจำนครเซี่ยงไฮ้ 4 ปี เป็นทูตไทยประจำมองโกเลีย และเกาหลีเหนือ มีประสบการณ์ในสหรัฐอเมริกาในฐาะสมาชิกทูตไทยประจำสหประชาชาติ 4 ปี เป็นกงสุลใหญ่นิวยอร์ค 4 ปี จังหวะหนึ่งไปเป็นทูตที่จอร์แดน จึงมีเรื่องต่างประเทศมาเสริมในงาน
“เราจะเป็นเรดาร์คอยจับทิศทางเป้าหมายต่าง ๆ ของโลกด้าน ESG ที่มีความสอดคล้อง COP26 และเป็นหางเสือช่วยกำกับ ซึ่งเราจะไปทิศทางเดียวกันกับฝ่ายบริหาร เพื่อเป้าหมายการทำธุรกิจ อย่างยั่งยืน หาโอกาสใหม่ ๆ สร้างการเติบโตด้วยการทำธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อ Stakeholder”
พิริยะยกตัวอย่างการเป็นเรดาร์ เช่นเรื่องเป้าหมายทุกประเทศ จะลดภาวะโลกร้อน 2.5 องศา ในปีค.ศ.2050 เป็นตัวเลขห่างไกลจากเดิม 1.5 องศาที่ทุกคนพูดถึงมาก่อนหน้านี้ บ้านปูต้องไปทิศทางนี้ และเห็นแล้วว่า 5 ปีข้างหน้า Greener Ebitdaา 50 % จะต้องมา ซึ่งจริง ๆ แล้วบ้านปูทำ Benchmark นี้ตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว เพราะมองเห็นทิศทางแล้ว โดยบ้านปูเน็กซ์ ทำไว้ก่อนแล้วปี 2018 เข้าสู่พลังงานโซล่าร์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือเรดาร์ ต่อไปคือการนำพลังงานทดแทนอื่น ๆ มาใช้ทดแทนปัจจุบัน จะเป็นพลังงานนิวเคลียร์ไหม สิ่งเหล่านี้คือเรดาร์ ระหว่างที่ทีมผู้บริหารคิดเรื่องพลังงานใหม่ ๆ เข้ามาใช้
“เราทำหน้าที่ส่งเรดาร์ไปหลายเรื่อง การลงทุนใหม่ ๆ จะตอบโจทย์บ้านปูไหม ต้องมีสมดุลย์ในการลงทุนด้วย เหมาะสมไหม จริง ๆ แล้วต้องบอกว่า ทีมผู้บริหารบ้านปูเองมีเรื่อง ESG ในตัวเองแบบอัตโนมัติ ดังนั้นคณะกรรมการ ESG ทำงานไม่ยาก ไม่ต้องส่งแรงกดดันอะไรให้ผู้บริหาร”
สมฤดีขยายความเพิ่มเติม จากมุมมองของคณะกรรมการ ESG จะส่งต่อมาที่คณะกรรมการความยั่งยืน (Sustainability Committee) ซึ่งจะทำงานแตกต่างกัน เพราะคณะกรรมการความยั่งยืน จะเป็นผู้ลงมือทำ เพราะประกอบไปด้วยผู้บริหารที่เป็นผู้นำธุรกิจแต่ละกลุ่มในทุกประเทศของบ้านปู จะมีดีพาร์ทเมนท์หลัก ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมาร่วมกันตั้งเป้าหมาย วางแผนงานที่จะต้องทำแต่ละไตรมาสแต่ละปี ว่าก้าวหน้าอย่างไรหรือไม่ภายใต้ ESG โดยมีคณะกรรมการ ESG เป็นเรดาร์ดูว่าผู้บริหารทำถึงเป้าหมายตามนั้นหรือไม่
“เพื่อความโปร่งใสต้องมี Check and Balance ดังนั้นการมีเพียง Sustainability Committee ที่ฝ่ายบริหารทำกันเองอาจจะไม่เพียงพอ เราเลยคิดว่าเพื่อให้ Governance ครบวงจร ตามหลักบรรษัทภิบาลที่ดี จึงมีคณะกรรมการ ESG เพื่อเป็นเรดาร์ไกด์ไลน์กับเราด้วย และได้ดูว่าการทำงานของเราก้าวล้ำนำหน้าตามวิสัยทัศน์หรือไม่”
ทั้งนี้ บ้านปูได้ดำเนินธุรกิจภายใต้หลักการ ESG
อย่างต่อเนื่องแล้วดังนี้
-ด้านสิ่งแวดล้อม (E) บ้านปูมุ่งส่งมอบอนาคตพลังงานที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับ SDGs 3 เป้าหมายในปี 2568 คือ เป้าหมาย 7เพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้มากกว่า 1.1 GW ภายในปี 2568 เป้าหมาย 13 จะลดอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 7 % เป้าหมาย 15 บรรลุผลกระทบสุทธิเชิงบวกหลังสิ้นสุดการทำเหมือง สำหรับเหมืองที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ
นอกจากนี้ในส่วนกลยุทธ์ Greener & Smarter ในปี 2568 EBITDA มากกว่า 50% จะมาจากธุรกิจพลังงานที่สะอาดขึ้นและเทคโนโลยีพลังงาน เช่น โครงการ “ฐานผลิตแห่งอนาคต” (Pad of the future) ติดตั้งอุปกรณ์วัดปริมาณก๊าซ และอุปกรณ์ดักจับคาร์บอนอัตโนมัติ การลดการปล่อย GHG ของโรงไฟฟ้า Zouping และโรงไฟฟ้า Luannan การดำเนินโครงการด้านความหลากหลายทางชีวภาพ การจัดตั้ง Decarbonization Project Working Group เพื่อศึกษาแนวทางการมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ของบริษัท
-ด้านสังคม (S) จากวัฒนธรรมองค์กร Banpu Heart เชื่อมโยงพนักงานหลากหลายเชื้อชาติในองค์กร ร่วมทำงานกับชุมชน ซึ่งมีความสอดคล้องกับธุรกิจเช่น โครงการสนับสนุนการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (BES) สนับสนุนให้มีครูภาษาอังกฤษเจ้าของภาษาเข้ามาสอนในโรงเรียนทั้ง 6 แห่งในจังหวัดลำพูน ลำปาง และพะเยา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่บ้านปูเคยดำเนินธุรกิจ
โครงการ Banpu Champions for Change (BC4C) สร้างสตาร์ทอัพได้แล้วกว่า 100 กิจการ โครงการ Power Green Camp (PWG) ปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนให้แก่เยาวชน โครงการออกแบบเกม ออกแบบสังคม พัฒนาทักษะเยาวชนให้มีทักษะของนวัตกรรุ่นใหม่ผ่านกระบวนการสร้างบอร์ดเกมเพื่อการเรียนรู้ กองทุนมิตรผล-บ้านปู รวมใจช่วยไทย สู้ภัย COVID-19 จัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์และสาธารณสุขที่จำเป็นในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ปัจจุบันกองทุนฯ มีงบประมาณรวม 1,000 ล้านบาท
-ด้านการกำกับดูแลกิจการ (G) เป็นปัจจัยสำคัญในการนำมาซึ่งความสำเร็จ 40 ปีในการดำเนินธุรกิจ เช่น
การจัดตั้งทีมงาน Incident Management Team หรือ IMT ในการบริหารจัดการในสภาวะวิกฤต ทำให้การดูแลความปลอดภัยของพนักงานและการดำเนินธุรกิจในช่วงสถานการณ์โควิด-19 การจัดตั้งหน่วยงาน Digital Center of Excellence (DCOE) เพื่อขับเคลื่อนบ้านปูให้พร้อมเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล การยกระดับความรับผิดชอบด้าน ESG ใน Supply Chain โดยผนวกเป็นส่วนหนึ่งในการบริหารจัดการคู่ค้า โดยได้ใช้ระบบ ESG Audit Performance และการจัดตั้งคณะกรรมการ ESG
สมฤดีกล่าวในท้ายที่สุด ถึงการมีคณะกรรมการ ESG คิดว่าเป็นประโยชน์มาก ๆ คือการเป็นกระบอกเสียงให้ผู้บริหาร กับทางคณะกรรมการ และผู้ถือหุ้นของบริษัทด้วย ดังนั้น Stakeholder บ้านปู ไม่ว่าจะเป็นในประเทศไทยหรือทุกภูมิภาคที่บ้านปูไปลงทุน จะมีความภูมิใจที่ตั้งคณะกรรมการESGขึ้นมา
“เพราะESGไม่ใช่แค่กระดาษ
แต่ที่เราทำคือ ลงมือทำจริง วัดผลจริง
มี Governance มาดูแลความโปร่งใสจริง”