TALK

เมื่อ AI ไม่ได้อยู่แค่ในโลกธุรกิจ IBM พัฒนา AI วัดคาร์บอนต้นไม้ถึงสำรวจมหาสมุทร

18 สิงหาคม 2565…SD Perspectives พูดคุยกับ ภาวศุทธิ ศรีวิโรจน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด ในฐานะผู้ผลิตเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำแบรนด์หนึ่งของโลก IBM ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีสำหรับโลกธุรกิจเท่านั้น แต่ยังประยุกต์เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับสิ่งแวดล้อมด้วย โดยเฉพาะเทคโนโลยี AI ที่นำมาเป็นเครื่องมือตรวจวัดปริมาณการกักเก็บคาร์บอนของต้นไม้ให้มีความเที่ยงตรงมากขึ้น รวมถึงนำมาใช้เพื่อสำรวจสภาวะของมหาสมุทรเพื่อนำเป็นข้อมูลในการวางแผนและหาทางออกให้กับวิกฤตทางทะเล

ภาวศุทธิ เริ่มต้นที่คำว่า Net Zero กลายเป็นนโยบายที่หลายองค์กรประกาศที่จะก้าวไป โดยส่วนใหญ่มักเลือกที่จะปลูกต้นไม้เพื่อนำมาหักล้างกับปริมาณคาร์บอนหรือฝุ่นควันที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิต ซึ่งปริมาณการปล่อยดังกล่าว แม้จะมีมิเตอร์สำหรับตรวจจับอยู่แล้ว แต่สำหรับวิธีวัดปริมาณคาร์บอนที่ต้นไม้ดูดซับนั้น ในปัจจุบันยังเป็นการคำนวนจากค่าเฉลี่ยที่ได้ข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐ อาทิ ต้นไม้สามารถดูดซับคาร์บอน 9-15 กิโลกรัม/ต้น/ปี หรือเทียบเท่ารถวิ่งในระยะทาง 37,000 กิโลเมตร จากนั้นจึงนำต้นไม้ที่ปลูกมาคำนวนออกมาเป็นผลลัพธ์

“แต่การคำนวณดังกล่าวมักไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะไม่ได้ระบุว่าต้นไม้มีขนาดหรือความสูงเท่าไหร่ หรือเป็นพันธุ์อะไร ซึ่งขนาดและความแตกต่างของพันธุ์ต้นไม้ต่างก็มีความสามารถในการดูดซับคาร์บอนที่ไม่เท่ากัน ทำให้ค่าที่วัดได้อาจจะไม่มีความถูกต้องแม่นยำเท่าที่ควร”

ภาวศุทธิ เล่าถึงการใช้ AI วิเคราะห์ชนิดต้นไม้ที่แมนฮัตตัน และ Mayflower Autonomous Ship

ภาวศุทธิ ขยายความต่อเนื่อง IBM จึงพัฒนา การใช้ AI วิเคราะห์การจับคาร์บอน ทำหน้าที่ตรวจและวิเคราะห์จากภาพถ่ายทางอากาศที่ถ่ายโดยเครื่องบินขนาดเล็ก จากนั้นคำนวณขนาด และพันธุ์ต้นไม้เพื่อคำนวณความหนาแน่นออกมาเป็นปริมาณการดูดซับคาร์บอนของต้นไม้ได้อย่างชัดเจน โดย IBM เริ่มนำร่องที่เกาะแมนฮัตตัน มลรัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาเป็นที่แรก

ในเวลาเดียวกัน AI วิเคราะห์การจับคาร์บอนต้นไม้ ยังมีระบบ Lidar คล้ายเซ็นเซอร์ที่ตรวจจับวัตถุ ซึ่งเป็นระบบเดียวกับที่ใช้ในรถยนต์ทำหน้าที่ตรวจจับขนาดลำต้น การแผ่กิ่งก้านสาขา และความสูงของต้นไม้ ซึ่งล้วนแต่มีผลต่อความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนทั้งสิ้น ส่งผลให้ได้ข้อมูลที่มีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังออกโปรดักท์ IBM Environmental Intelligent Suite สำหรับคำนวณพันธุ์ไม้ออกมาเป็นตารางแต่ละพันธุ์ และความสูงของต้นไม้ว่าสามารถดูดซับคาร์บอนได้เท่าไหร่

ชนิดต้นไม้ และปริมาณการจับคาร์บอนที่แมนฮัตตัน

“จากการทดลองใช้งานที่เกาะแมนฮัตตันเราพบว่า ต้นไม้ทั้งเกาะนี้สามารถกักเก็บคาร์บอนได้ประมาณ 52,000 ตันต่อปี ถือว่าเป็นตัวเลขที่เยอะมาก เราจึงคิดว่าเทคโนโลยีนี้สามารนำมาประยุกต์ใช้ในเมืองไทย เช่น องค์กรไหนที่ปล่อยฝุ่นหรือคาร์บอนจากโรงงานจำนวนเท่านี้ อาจจะหักลบด้วยการปลูกต้นไม้จำนวนเท่าไหร่ ทำให้คำนวณได้แม่นยำกว่า และน่าเชื่อถือได้ แน่นอนว่ายิ่งข้อมูลเยอะยิ่งทำให้ประเมินการเก็บคาร์บอนได้ละเอียดยิ่งขึ้น และชี้วัดได้ว่าต้นไม้ที่ปลูกสามารถเก็บคาร์บอนได้เพียงพอหรือไม่ นำมาวางแผนการปลูกต้นไม้เพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero ขององค์กรต่อไป”

ภาวศุทธิ กล่าวต่อเนื่อง อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ IBM นำมาใช้ในสิ่งแวดล้อมก็คือ Mayflower Autonomous Ship เนื่องจากมองว่ามหาสมุทรเป็นกระจกบานใหญ่ที่สะท้อนให้เห็นถึงวิกฤตโลกร้อนได้เป็นอย่างดี เพราะอย่าลืมว่า 3 ใน 4 ของโลกสีน้ำเงินใบนี้ถูกปกคลุมไปด้วยทะเลนั่นเอง

ระบบและเซ็นเซอร์ภายในเรือ Mayflower

IBM จึงจับมือกับพาร์ทเนอร์ May Flower ผู้ผลิตเรือไร้คนขับจากพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อติดตั้งระบบเก็บข้อมูลในมหาสมุทรด้วย AI ทั้งข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำ อุณหภูมิ มลภาวะ ไปจนถึงขยะในทะเล ซึ่งล้วนเป็นดัชนีข้อมูลที่สำคัญเพื่อให้มนุษย์รับมือกับวิกฤตทะเลได้ดียิ่งขึ้น

“เราใช้ IoT ในการสำรวจและเก็บดาต้ามาอยู่บนคลาวด์ แต่สิ่งที่ท้าทายคือ การเดินเรือเพื่อสำรวจทางทะเลมีความอันตรายจากกระแสน้ำคลื่นลม ดังนั้นเราจึงต้องใช้เรือแบบไร้คนขับ โดย IBM ออกแบบให้มี AI Captain ในการควบคุมการเดินเรือแทนมนุษย์ ติดตั้งเซ็นเซอร์รอบลำเรือ 30 จุด แสดงข้อมูลจากเรดาห์รอบเรือ และระบบจีพีเอสบอกพิกัดเส้นรุ้งเส้นแวง และความลึกของมหาสมุทร นอกจากนี้ยังมีเซ็นเซอร์วัดขนาดคลื่นลมเพื่อใช้ Machine Learning Analytic ในการวิเคราะห์เส้นทาง สุดท้ายหัวใจสำคัญอยู่ที่การออกแบบ Decision Model ให้ AI Captain คิดและตัดสินใจในการเดินเรือได้อย่างปลอดภัย”

ปัจจุบัน Mayflower Autonomous Ship อยู่ในโครงการนำร่องของ IBM เช่นเดียวกัน โดยเริ่มทดลองเดินเรือจากประเทศอังกฤษผ่านมหาสมุทรแอตแลนติกในระยะทาง 3,500 ไมล์ เพื่อเก็บข้อมูลต่างๆ ทางทะเลว่ากระแสน้ำเปลี่ยนไปขนาดไหน หรือน้ำแข็งละลายเร็วเพียงใด แล้วป้อนข้อมูลให้กับ Marine Research ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวจะนำไปวิเคราะห์สถานการณ์ และหาทางป้องกันภาวะโลกร้อนต่อไป ในอนาคต IBM วางเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวนเรือมากขึ้น เพื่อสำรวจมหาสมุทรทั่วโลก

IBM AI Factsheet

“แต่อย่างที่เราทราบกันดีว่าความฉลาดของ AI จะมีความเที่ยงตรงแม่นยำได้นั้นขึ้นอยู่กับชุดข้อมูลที่ป้อนเพื่อให้ AI เรียนรู้และนำไปวิเคราะห์ ดังนั้นเพื่อให้ AI วิเคราะห์ได้อย่างถูกต้อง IBM ยังได้คิดค้น Product ใหม่ที่มีชื่อว่า AI Bias ถือได้ว่าเป็น AI Factsheet แสดงที่มาของดาต้า และโมเดลที่ใช้ในการสอน AI เพื่อให้ลูกค้าหรือผู้ที่นำไปใช้สามารถประยุกต์กับงานที่ตัวเองทำได้อย่างถูกต้อง และเที่ยงตรง ยกตัวอย่างในกรณี AI วิเคราะห์การจับคาร์บอนต้นไม้ จะมี AI Bias แจ้งพันธุ์ของต้นไม้ที่ใช้ในการคำนวณในเกาะแมนฮัตตัน เป็นต้น ดังนั้นจึงเป็น AI Factsheet ให้ผู้ใช้งานนำไปใช้ได้อย่างเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของตนเอง”

เครื่องมือ Envizi ที่ใช้ AI ช่วยประมวลผลข้อมูลสำหรับรายงาน ESG

ภาวศุทธิ กล่าวในท้ายที่สุด สิ่งที่ IBM ทำในวันนี้ชี้เห็นได้ว่า AI สามารถนำมาสร้างประโยชน์ให้กับสิ่งแวดล้อมได้หลากหลาย และ IBM จะยังไม่หยุดเพียงเท่านี้ เพราะในอนาคตยังมีแผนนำ AI เข้าไปจัดการกับปัญหาขยะ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่โลกต้องเผชิญ

 

You Might Also Like