24 มีนาคม 2566…อุตสาหกรรมสิ่งทอกำลังเผชิญกับเสียงเรียกร้องทางสังคมในฐานะอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนโดยตรง มีส่วนก่อให้เกิดการปล่อยคาร์บอนจำนวนมหาศาล เพราะปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์จากอุตสาหกรรมสิ่งทอคิดเป็น 10% ของคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งโลก มากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตเนื้อวัวถึง 50% แต่ละปีอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสร้างมลพิษมากเป็นอันดับ 2 รองจากอุตสาหกรรมน้ำมันและทำให้เกิดขยะมากกว่า 10 ล้านตัน/ปี อีกทั้งยังต้องใช้พลังงานอย่างมากเพื่อการกำจัด
ไชยยศ รุ่งเจริญชัย กรรมการ บริษัท บีซีแอล 2002 จำกัด เจ้าของรางวัลเกียรติยศแห่งความภาคภูมิใจของเอสเอ็มอีไทย Bai Po Business Awards by Sasin ครั้งที่ 18 ตัวอย่างของเอสเอ็มอีไทยที่ลุกขึ้นมาพัฒนาองค์กร ต่อยอดธุรกิจครอบครัวในรุ่นที่ 3 ด้วยการคิดค้นนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สิ่งทอเพื่อตอบโจทย์โลกอนาคต โดยก่อตั้งบริษัทในเครือภายใต้ชื่อ บริษัท เพอร์มา คอร์ปอเรชั่น จำกัด เพื่อมุ่งเน้นศึกษาวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้าน Anti-Bacterial จนสำเร็จมาเป็นเส้นใยเพอร์มา “PERMA” ที่ผสานนาโนซิงค์ฝังแน่นไปในเส้นใย สร้างความต่างจากกระบวนการดั้งเดิมที่ใช้สารเคลือบป้องกันเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งทำลายเซลล์และก่อให้เกิดมะเร็งในระยะยาว
จุดเด่นของเพอร์มาคือการใช้เทคโนโลยีนาโนซิงค์ผังไปในเส้นใย และกระจายตัวลงไปในระดับอนุภาคของเส้นใยอย่างสม่ำเสมอ มีประสิทธิภาพคงทนต่อการซักได้มากกว่า 150 ครั้ง โดยที่คุณสมบัติในการต้านแบคทีเรียและไวรัสยังคงเหลือ 99.93% สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและไวรัสบางชนิดได้อย่างคงทนถาวร เมื่อนำไปซักล้างจะไม่มีการหลุดลอกออกไปกับน้ำ จึงปลอดภัยทั้งในด้านการดูแลสุขภาพของผู้สวมใส่ และการดูแลสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กัน
นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ได้รับรางวัล Bai Po Business Awards by Sasin ในหลายมิติ ได้แก่ องค์กรที่มีการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน, องค์กรที่มีการสร้างสรรค์นวัตกรรม และการสร้างธุรกิจด้วยพลังแห่งการเป็นผู้ประกอบการ
ปัจจุบัน บีซีแอล 2002 มีผลิตภัณฑ์นวัตกรรมสิ่งทอ Anti-Bacterial 2 ตัวด้วยกัน คือ กลุ่มสิ่งทอทางการแพทย์ ได้แก่ ชุดบุคลากรทางการแพทย์ ชุดคนไข้ ถุงเท้าสำหรับขาเทียม หน้ากากอนามัยป้องกันแบคทีเรีย ผ้าพันแผลลดการติดเชื้อในผู้ป่วยเบาหวาน และกลุ่มสมาร์ทเท็กซ์ไทล์ เช่น กางเกงยีนลดกลิ่นอับชื้น กางเกงในลดแบคทีเรียป้องกันการเกิดเชื้อรา เป็นต้น
อย่างไรก็ดี จากการศึกษาดูงานแสดงสินค้าในต่างประเทศโดยเฉพาะในทวีปยุโรป ไชยยศพบ Global Requirement ที่น่าสนใจว่า ผู้คนให้ความสำคัญกับความยั่งยืนทันทีหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ความตื่นตัวเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมตีกลับขึ้นมาเป็นความสำคัญอันดับหนึ่ง รวมถึงมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (Carbon Border Adjustment Mechanism:CBAM) เริ่มมีผลบังคับใช้ในปีนี้ยิ่งทำให้ ไชยยศ นำประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมมาเป็นโจทย์ในการพัฒนาสินค้าอย่างเข้มข้นมากขึ้น
“นอกจากสินค้าของเราไม่ใช้สารเคมีแล้ว ปัจจุบันเรายังนำเส้นใยและผ้าทอที่มีส่วนผสมมาจากพลาสติกรีไซเคิลมาใช้เป็นวัตถุดิบผลิต และวางเป้าหมายผลักดันที่จะเพิ่มสัดส่วนผ้าทอจากเส้นด้ายรีไซเคิลให้เพิ่มมากขึ้นเป็น 50-100 ตันต่อเดือนภายในปีนี้ และในอนาคตเรามองว่าผลิตภัณฑ์สิ่งทอจากรีไซเคิลจะเป็นสินค้าหลักของเรา”
ไชยยศ ยอมรับว่าเป้าหมายดังกล่าวถือเป็นโจทย์ใหญ่ ทำให้เขาต้องเดินหน้าหาพันธมิตรโรงทอผ้าที่มีกระบวนการผลิตผ้าจากพลาสติกรีไซเคิลเพิ่มขึ้น รวมถึงเป็นตัวกลางในการจำหน่ายออกไปในตลาดต่างประเทศ แน่นอนว่าจำเป็นต้องรับมือกับกฎ CBAM ด้วย
“เราอยู่ในเครือข่ายสิ่งทอและมีลูกค้าที่ส่งออกสินค้าไปในทวีปยุโรป จึงศึกษาเรื่องคาร์บอนฟุตพรินท์และคาร์บอนเครดิตมาหลายปีแล้ว แต่เนื่องจากเพอร์มาเป็น Innovation Center ที่คิดค้นและผลิตสิ่งทอนวัตกรรม ไม่ได้เป็นโรงงานทอผ้าหรือโรงย้อม ดังนั้นเราจึงเลือกคู่ค้าหรือซัพพลายเออร์ที่มีใบรับรองการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อให้สินค้าของเราเข้าเกณฑ์หรือเงื่อนไขตามกฎที่วางไว้”
สุดท้ายนี้ ไชยยศ มองว่าวงการสิ่งทอในเมืองไทยมีทิศทางในการปรับตัวเพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเห็นได้ชัด
“วงการอุตสาหกรรมสิ่งทอในไทยส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจครอบครัวที่สืบทอดกันมา ตอนนี้ถูกส่งต่อกิจการไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน ซึ่งเป็นยุคที่ปรับตัวและคำนึงถึงประเด็นผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาได้ซักระยะแล้ว อย่างโรงทอ เราเริ่มเห็นการนำพลาสติกมารีไซเคิลเป็นวัตถุดิบ ในขณะที่โรงย้อมใช้พลังงานสูงและมีการปล่อยน้ำจากการย้อม ก็เริ่มเปลี่ยนอุปกรณ์ และหันมาใช้พลังงานทางเลือก รวมถึงคิดค้นวิธีการย้อมแบบใหม่เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำและปล่อยของเสียลงสู่แหล่งน้ำ ผมคิดว่าสิ่งที่คนในวงการของเราพยายามทำอยู่ น่าจะเปลี่ยนภาพลักษณ์ที่ดีให้กับสิ่งทอได้ในอนาคต”