19 สิงหาคม 2566…ผลสำรวจผู้เข้าร่วมงานชี้ การจัดโครงสร้างธุรกิจและการจัดสรรผลประโยชน์ของสมาชิกในธุรกิจครอบครัว เป็นประเด็นสำคัญที่ธุรกิจครอบครัวต้องเผชิญและต้องการแก้ไขมากที่สุด
ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ร่วมกับพันธมิตรจัดสัมมนาใหญ่ด้านธุรกิจครอบครัวครั้งแรกของตลาดหลักทรัพย์ฯ “The 1st SET International Conference on Family Business: Family Business in the Changing World” เพื่อชี้ให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของธุรกิจครอบครัว ร่วมสนับสนุนกลไกและสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อให้ธุรกิจครอบครัวไทยเข้มแข็งสู่การเป็นกำลังหลักของเศรษฐกิจต่อไป งานสัมมนามีผู้เข้าร่วมกว่า 250 ราย ร่วมด้วยหลายภาคส่วนที่มีบทบาทในการพัฒนาผู้ประกอบการ
ภายในงานสัมมนาได้เชิญผู้เชี่ยวชาญที่ปรึกษาด้านธุรกิจครอบครัว ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมมองที่น่าสนใจในการเสริมศักยภาพ ธุรกิจครอบครัวของไทย ไม่ว่าจะเป็น Prof. John A Davis ประธานและผู้ก่อตั้งสถาบัน Cambridge Family Enterprise Group และผู้อำนวยการโปรแกรม Family Enterprise มหาวิทยาลัย MIT ระบุถึง 3 องค์ประกอบที่สนับสนุนให้ธุรกิจครอบครัวสามารถสานต่อความสำเร็จจากรุ่นสู่รุ่น ได้แก่ การกำหนดทิศทางการเติบโตของธุรกิจ (Growth) บุคลากร ทั้งที่เป็นบุคคลในครอบครัวและผู้บริหารมืออาชีพ (Talent) และการเป็นหนึ่งเดียวขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน (Unity) ส่วน Prof. Morten Bennedsen ผู้เชี่ยวชาญ เป็นที่ปรึกษาและวิทยากรให้กับสถาบันชั้นนำต่าง ๆ ได้แชร์กรณีศึกษากิจการที่ให้ความสำคัญกับการวางแผนระยะยาว ซึ่งนำไปสู่การวางกลยุทธ์ธุรกิจที่เข้าใจความพิเศษของธุรกิจครอบครัว และความสามารถปรับตัวท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง
ขณะเดียวกันงานสัมมนายังมีผู้บริหารระดับสูงและเจ้าของธุรกิจของไทยร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทย ในประเด็นที่สำคัญ อาทิ
-การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลาของการทำธุรกิจ สิ่งสำคัญคือองค์กรต้องสร้างแกนหรือฐานให้เข้มแข็ง มีจรรยาบรรณ รักษาคุณภาพ และมาตรฐานการประกอบธุรกิจให้ดี การมีพันธมิตรจะช่วยให้มีการผนึกกำลังและสามารถเติบโตไปพร้อมกัน ความสำเร็จขององค์กรมาจากคน วัฒนธรรมการเติบโตของคนในองค์กรไม่ควรใช้ทางลัดแต่ต้องพิสูจน์ฝีมือ และนำคนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมทำงานกับคนรุ่นก่อนให้ได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน
-ควรให้ทายาทได้ทำสิ่งใหม่ ๆ และเป็นการทำร่วมกัน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้กระบวนการคิด การตัดสินใจ และให้ทายาทพิสูจน์ตนเองจากการทำงาน
-ควรแยกทรัพย์สินส่วนตัวของครอบครัวออกจากธุรกิจเพื่อให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล ทรัพย์สินของครอบครัวที่นำมาจัดตั้งและบริหารนั้น ผู้ทำหน้าที่ต้องมีความน่าไว้วางใจซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญที่สุด และมีทักษะการสื่อสารที่ดีเยี่ยม เพราะต้องทำงานร่วมกับคนในตระกูลที่มีหลายรุ่น ในส่วนครอบครัวที่จัดตั้งเป็นโฮลดิ้งครอบครัวนั้น ควรต้องทำเมื่อเริ่มมีทรัพย์สินมากขึ้นเพราะจะเริ่มมีความซับซ้อน ควรต้องจัดทำธรรมนูญครอบครัว เพื่อสร้างบรรทัดฐานการดำเนินธุรกิจของตระกูล และยังเป็นแกนกลางในการส่งต่อหลักปรัชญาของครอบครัวและธุรกิจ
-โลกที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้ธุรกิจได้รับผลกระทบไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมาตรฐานสากลกับวัฒนธรรม การทำแคมเปญที่อาจส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชน ผู้กำหนดนโยบายจะต้องมองให้ออกว่าเป็นความเสี่ยงหรือโอกาส รวมทั้งกระแสที่ผู้บริโภคทั่วโลกที่ให้ความสำคัญกับสังคมและสิ่งแวดล้อม หากธุรกิจครอบครัวไม่ปรับเปลี่ยนให้ทันกระแสการเปลี่ยนแปลง จะกลายเป็นความเสี่ยงในการทำธุรกิจ หากบริหารจัดการได้ดีปรับตัวทัน จะเป็นโอกาสในการเติบโตได้ต่อไป
“สัมมนาครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นในความร่วมมือส่งเสริมศักยภาพธุรกิจครอบครัวไทย ตลาดหลักทรัพย์ฯ มุ่งหวังให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกันขับเคลื่อนระบบนิเวศเพื่อการพัฒนาธุรกิจครอบครัวไปด้วยกัน เพราะในประเทศไทยยังมีธุรกิจครอบครัวที่ดีและมีศักยภาพจำนวนมากที่ยังต้องการเติบโต ขณะที่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เอง บจ. ที่เป็นธุรกิจครอบครัวนั้นคิดเป็นสัดส่วนถึง 57% ของจำนวน บจ. ทั้งหมด และในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา 70% ของ บจ. เข้าใหม่ก็เป็นธุรกิจที่เติบโตมาจากธุรกิจครอบครัว ตลาดหลักทรัพย์ฯ พร้อมส่งเสริมผู้ประกอบการไทยด้านองค์ความรู้และเครื่องมือและบริการต่าง ๆ ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาโดยเฉพาะเพื่อตอบโจทย์ธุรกิจ และขยายโอกาสให้ธุรกิจในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในตลาดทุน” ดร.ภากรกล่าวในท้ายที่สุด