24 สิงหาคม 2566…ดร.ศิริกุล เลากัยกุล ผู้อำนวยการ Sustainable Brands ประจำประเทศไทย กล่าวว่าหลังจากที่โลกใบนี้ต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด กลายเป็นจุดเปลี่ยน “ความยั่งยืน” ด้วย Regeneration คือการฟื้นฟูวงจรธรรมชาติให้กลับมา
7 ปีมาแล้วที่ SB Thailand ทำหน้าที่เชื่อมโยงเครือข่ายความยั่งยืนระดับโลก นำเทรนด์ใหม่ๆ ทางด้านของความยั่งยืนมาขับเคลื่อนสังคมไทย ผ่านการจัดงานประจำปี โดยหวังให้ประเทศก้าวไปสู่สังคมที่ตระหนักรู้ และสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ประกอบการ นักสร้างแบรนด์ นักการตลาด ได้นำแนวคิดด้านความยั่งยืนไปปฏิบัติจริง ถือเป็นการสร้างแนวร่วมให้เกิด Impact นำไปสู่การพัฒนาต่อยอดให้ความยั่งยืนขยายวงกว้าง ออกดอกออกผลมากขึ้นเรื่อยๆ
สำหรับปีที่ 8 SB Thailand นำคอนเซ็ปต์ใหม่ของความยั่งยืนมาให้คนไทยได้รู้จัก ภายใต้ชื่องาน SB Thailand X Spain : Regenerative Food Regenerative Future
Do less bad ไม่พอ
แต่ต้อง Do more good
“โลกถูกคุกคามทุกวัน ดังนั้นความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องมีพัฒนาการ เวลานี้นักคิดนักทฤษฎีคิดว่าแค่ Sustainable Development ไม่พอ แต่ต้องทำอะไรที่ไปได้ไกลกว่านั้น ยกตัวอย่างความยั่งยืนในสมัยก่อนอาจจะเน้น 3R :Reuse Reduce Recycle จะพบว่าแต่ละ R โฟกัสกับปัจจุบัน หากเราต้องการที่จะทำอะไรให้ไปได้ไกลขึ้น คำตอบที่ได้ในเวลานี้คือ Regeneration ดึงระบบนิเวศน์ที่เคยหายไปหรือถูกกระทบให้กลับคืนมา พูดง่ายๆ ก็คือ Do less bad ไม่พอ แต่ต้อง Do more good ซึ่ง Regeneration เป็นบริบทใหม่ของโลกแห่งความยั่งยืน และ SB Global ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มา 2 ปีแล้ว”
ดร.ศิริกุล ขยายความเพิ่มเติม SB Thailand ถอดบทเรียนคอนเซ็ปต์ Regeneration ของ SB Global นำมาประยุกต์เข้ากับบริบทสังคมไทย และตอบโจทย์ประเทศ เป็นสาเหตุของชื่องาน Regenerative Food, Regenerative Future เนื่องจากมองว่าอุตสาหกรรมอาหารเป็นหัวใจของประเทศ และมีซัพพลายเชนขนาดใหญ่
Regeneration
คืออะไร
Regeneration คือ Umbrella ใหญ่ของ Circular Economy เป็นการดึงความอุดมสมบูรณ์ หรือทรัพยากรสำคัญที่หายหรือกำลังหายไปกลับมา คอนเซ็ปต์ของ Regeneration จึงไม่ได้ประกอบไปด้วย Stakeholder เท่านั้น แต่มองภาพใหญ่กว่าไปถึง Living System ที่อยู่ในระบบนั้นฟื้นฟูกลับมาด้วยตัวเอง แล้วขยายตัวให้เพิ่มมากขึ้น เมื่อเกิดการสร้างระบบเกื้อกูลกัน ย่อมเพิ่มโอกาสให้ทรัพยากรฟื้นตัวกลับมา
“ SB Global ให้ความสำคัญกับ Regeneration มา 2 ปีแล้ว กระตุ้นให้หลายภาคส่วนพยายามคำไอเดียนี้ไปขับเคลื่อน ผ่านมาถึงตอนนี้จึงเริ่มมีกรณีศึกษาเกิดขึ้นในระดับโลกที่จับต้องได้ มีตัวชี้วัดความสำเร็จชัดเจน พอที่จะนำมาแบ่งปันภายในงาน SB Thailand ครั้งที่ 8 ซึ่งจะเป็นการเปิดบริบทใหม่ให้ผู้ประกอบการ นักสร้างแบรนด์ได้เห็นวิธีการสร้างความยั่งยืนที่กว้างมากขึ้น”
งานปีนี้เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยจับมือสเปนเพื่อจัดงานร่วมกัน หลังพบว่าสองประเทศนี้มีอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารเป็นกระดูกสันหลัง โดยแบ่งการจัดงานออกเป็นที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 3 พฤศจิกายน เชิญ 3 วิทยากรต่างชาติมาร่วมแบ่งปันให้ความรู้เหมือนเดิม แต่เพิ่มเติมคือเวลาเป็นคนละ 40 นาที จากเดิมทุกปี 15-20 นาทีเท่านั้น ประกอบด้วย JENNY ADDRESSON, MARC BUCKLEY และ SANDRA PINA, SB SPAIN เพื่อให้เวลาเต็มที่กับผู้ร่วมงาน เพราะนอกจากบรรยายแล้วยังพาทำเวิร์คช้อปร่วมกันเพื่อนำไปสู่โซลูชั่นใหม่ๆ
ส่วนงานในวันที่ 4-5 พฤศจิกายน จะจัดขึ้นในจันทบุรี ลงพื้นที่เพื่อเรียนรู้การทำ Regenerative Farm ของเกษตรกรปลูกพริกไทยและกระวานพันธุ์ท้องถิ่นหายาก และต่อเนื่องกับ Regenerative Food
Regenerative Food
Regenerative Future
ดร.ศิริกุล เผยสาเหตุที่เลือกสวนพริกไทยและกระวานแทนผลไม้ขึ้นชื่ออย่างทุเรียนว่า อุตสาหกรรมทุเรียนมีขนาดใหญ่เกินกว่าที่จะแก้ปัญหาได้ในเร็ววัน เทียบกับสวนพริกไทยและกระวาน ถึงแม้ว่าขนาดเล็กกว่าแต่เป็นทรัพยากรธรรมชาติสำคัญของจังหวัดนี้ ทั้งยังมีโอกาสเติบโตในแง่ของอาหารที่ให้สรรพคุณทางยา ซึ่งสามารถผลักดันเศรษฐกิจชุมชนได้เช่นกัน
“ปัจจุบันเราพบว่าพริกไทยพันธุ์พื้นเมืองจันทบุรีกำลังจะสาบสูญ ตอนนี้เหลือแค่ 30 ต้นในสวนของเกษตรกรที่เรากำลังจะพาลงไปในพื้นที่ในช่วงเช้า วันนั้นเราจะไปเรียนรู้ถึงความสำคัญ และวิธีกู้ให้พืชพันธุ์พื้นเมืองเหล่านี้กลับมา จากนั้นช่วงบ่ายมาช่วยกันหาโซลูชั่นเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มเชื่อมโยงไปกับการท่องเที่ยว ในฐานะที่จะเป็นเครื่องจักรการสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนต่อไป”
สำหรับเป้าหมายการจัดงานในครั้งนี้ ดร.ศิริกุล คาดหวังว่าจะมี Success Case ในจันทบุรีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เป็นแรงผลักดันส่งต่อความรู้เพื่อช่วยเหลือคนอื่นในจังหวัดต่าง ๆ ขยายออกเป็นวงกว้าง
“ดิฉันคิดว่า ระหว่างทางที่ทุกคนร่วมกันสร้างความยังยืนมันมีวิถีใหม่ที่ดีและมีประโยชน์มากกว่าเดิมเป็นทางเลือกให้ทุกคนได้หยิบนำไปปฏิบัติ อย่างน้อยก็ช่วยทำให้มีความหวังในการกอบกู้โลกมันมีมากขึ้น เผื่อผู้ประกอบการ จะได้รู้ว่าตัวเองสามารถ Contribute อะไรได้บ้าง หรือทำได้มากขึ้นเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมและสิ่งแวดล้อม ในขณะที่นักสร้างแบรนด์ ไม่ได้แค่ทำแบรนด์เพื่อตอบโจทย์ธุรกิจและสังคมเท่านั้น แต่ควรทำให้แบรนด์กลายเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนสังคมไม่ใช่ทำเพื่อสร้างภาพลักษณ์เพียงอย่างเดียว” ดร.ศิริกุล กล่าวในท้ายที่สุด