19 กันยายน 2566…เป็นการเดินตามแนวทางของ CIMB Group ที่ประกาศเพิ่มเป้าหมายเงินส่งเสริมความยั่งยืนเพิ่มเป็น 1 แสนล้านริงกิต (7.7 แสนล้านบาท)ภายใน ปี 2567
พอล วอง ชี คิน กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวในงานสัมมนา The Cooler Earth Summit : Sustainability Conference 2023 Thailand หัวข้อ “เปลี่ยนผ่านธุรกิจเพื่อโลกที่ดีกว่า” จัดขึ้นแบบ hybrid ที่ UNCC พร้อม LIVE สด วันที่ 18 ก.ย.66 โดยเริ่มต้นถึงสภาพแวดล้อมโลกของเราขณะนี้
“เพื่อให้พวกเราอยู่รอดได้ ท่ามกลางปัญหาสิ่งแวดล้อมอันท้าทายและซับซ้อน เราทุกคนต้องมีส่วนร่วมและขับเคลื่อนอย่างแข็งขัน ตั้งรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมา ปี 2566 มนุษย์พบความท้าทาย ปัญหาทางเศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม VUCA ทั่วโลก เหตุการณ์ภัยพิบัติทางสภาพอากาศมากมาย ความร้อนแผดเผาครอบคลุมหลายพื้นที่ของยุโรป เอเชีย และอเมริกาเหนือ ฝนตกหนักเป็นประวัติการณ์ในฮ่องกง พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา”
ที่น่ายินดีคือ เราเห็นคนคำนึงถึงความยั่งยืนในชีวิตประจำวันมากขึ้น ธนาคารในฐานะภาคธุรกิจ จำเป็นต้องให้แน่ใจว่าเราตอบสนองความต้องการและการเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภค และในฐานะธนาคารมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงชุมชนและสังคม เราแค่ดำเนินธุรกิจตามวิถีความยั่งยืนไม่พอ แต่ต้องมีส่วนผลักดันให้ผู้อื่นทำเช่นกัน
หลักการสำคัญที่ ซีไอเอ็มบี ไทย กำหนดเป็นวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงธุรกิจเพื่อวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า ได้แก่
1.ความยั่งยืนไม่ได้เป็นเพียงคำศัพท์
แต่เป็นกลยุทธ์หลักของธุรกิจ
ได้ฝังอยู่ใน DNA ของชาว ซีไอเอ็มบี ไทยภาคการเงินมีบทบาทสำคัญในการจัดสรรเงินทุนเพื่อสนับสนุนและการสร้างวิสาหกิจที่ยั่งยืน ใน TCE Summit ล่าสุดที่มาเลเซีย กลุ่มซีไอเอ็มบี ได้ตั้งเป้าหมายขยายวงเงินส่งเสริมด้าน Sustainability ไว้ที่ 1 แสนล้านริงกิต (ประมาณ 2.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ) หลังจากบรรลุเป้าหมาย 3 หมื่นล้านริงกิต (ประมาณ 143 ล้านเหรียญสหรัฐ เร็วกว่ากำหนดถึง 2 ปี สะท้อนว่ากลุ่มซีไอเอ็มบี มุ่งมั่น แน่วแน่ ในการจัดหาเงินทุนสำหรับโครงการและความคิดริเริ่มที่ส่งเสริมการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบต่อสังคม และความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจ สำหรับ CIMB Group ความยั่งยืนไม่ได้เป็นเพียงส่วนเสริม แต่เป็นรากฐานเพื่อสร้างและเตรียมพร้อมเพื่อวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า
2.การขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชน
และการเปลี่ยนแปลงที่ยุติธรรม
CIMB ขับเคลื่อนองค์กรด้วยวัตถุประสงค์ชัดเจน เราพยายามอย่างมากที่จะยกระดับความเป็นอยู่ของผู้คน และต้องให้มั่นใจว่าผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่ของธุรกิจเราเคารพสิทธิมนุษยชน ปี 2566 ซีไอเอ็มบี ไทย เป็นหนึ่งในธนาคารไม่กี่แห่งในประเทศไทย ที่ได้พัฒนานโยบายด้านสิทธิมนุษยชนที่ครอบคลุม นอกจากนี้ยังตรวจสอบสถานะผู้ที่อยู่ในซัพพลายเชน จากผู้ขายไปจนถึงระดับลูกค้า ให้มั่นใจว่าผลกระทบเชิงลบด้านสิทธิมนุษยชนต้องลดลง การประชุม TCE Summit ครั้งที่ 4 ของ CIMB เมื่อปี 2565 หัวข้อ ‘Facilitating a Just Transition’ วัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนตื่นตัวเรื่องนี้ ส่วนการประชุมวันนี้ มีผู้แทนพิเศษจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) มาแบ่งปัน ว่าเราจะสามารถเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงที่ยุติธรรมสำหรับทุกคนได้อย่างไร การพัฒนาทักษะสีเขียว(Green Skills)และงานสีเขียว (Green Jobs) การสร้างเศรษฐกิจสีเขียวที่สมดุลกันระหว่างผู้คนและโลก
3.การร่วมมือกัน
เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวก
ความยั่งยืนเป็นความรับผิดชอบร่วมกัน เรามักมองหาความร่วมมือกับองค์กร หน่วยงานภาครัฐ และประชาชนที่มีใจเดียวกัน เพื่อขยายพลังของความเปลี่ยนแปลง เพราะไม่มีใคร หน่วยงานไหน แก้ปัญหาได้เพียงลำพัง ร่วมมือกันเราก็ทำได้ สร้างประโยชน์ให้เกิดกับทุกคน เป็นเหตุผลว่าทำไม CIMB เราส่งเสริมกรอบความคิดในการทำงานร่วมกันในบุคลากรของเรา ส่วนหนึ่งของค่านิยมภายในชื่อ ‘EPICC’ ตัวอย่างสำคัญ ของการรวมพลังคือ โครงการ ‘Run to Win’ พนักงาน CIMB Thai และบริษัทในเครือวิ่งสะสมระยะเพื่อระดมทุนบริจาคให้โรงพยาบาลบ้านแพ้ว สิ่งนี้ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการสร้างกำไรให้ธนาคาร แต่ร่วมแรงร่วมใจทำเพื่อสังคม
“ผมอยากเน้นย้ำว่าความยั่งยืนไม่ใช่จุดหมายปลายทาง แต่เป็นการเดินทางอย่างต่อเนื่อง ต้องทุ่มเท มีวิสัยทัศน์ และเต็มใจที่จะปรับตัวสู่ความท้าทายใหม่ๆ หากร่วมมือกัน เราจะพลิกธุรกิจให้ดีขึ้นได้ ให้พรุ่งนี้มีความเท่าเทียม ยืดหยุ่น และใส่ใจสิ่งแวดล้อม ผมขอฝากถ้อยคำของมหาตมะ คานธี The future depends on what you do today. อนาคตขึ้นอยู่กับสิ่งที่คุณทำวันนี้ ขอให้พวกเราคว้าโอกาสนี้ สร้างอนาคตที่สดใสด้วยกัน”พอล วอง กล่าวทิ้งท้าย