26 ธันวาคม 2566…การประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติครั้งที่ 28 หรือ COP28 มีหลายประเด็นพูดคุยที่น่าสนใจ เช่น ข้อตกลงใหม่ๆของประชาคมโลก แผนเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานฟอสซิลมาเป็นพลังงานสะอาด รวมถึงประเทศไทยได้บทเรียน ประโยชน์หรือสามารถนำอะไรมาต่อยอดได้จากการประชุมล่าสุด และการได้เข้าไปโชว์ศักยภาพของประเทศไทยในการเดินหน้าสู่ Net Zero ผ่านโครงการ ‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’ เมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำโดย เอสซีจี ซึ่งมีคนแวะเข้ามาชมและให้ความสนใจ ถือเป็นเรื่องดีที่ประเทศไทยสามารถนำโครงการดี ๆ ไปแชร์ให้กับระดับสากลได้
ชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การบริหารความยั่งยืน เอสซีจี เล่าถึงบรรยากาศในงาน COP28 ที่ดูไบว่า ครั้งนี้เป็นครั้งแรกในการเช็คความคืบหน้าในการดำเนินงานของประเทศต่างๆ โดยธีมใหญ่ของปีนี้คือ Global Stocktake ซึ่งผลที่ออกมาปรากฏว่าผลจากการดำเนินกิจกรรมต่างๆยังคงทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น 2.5 องศาเซลเซียส ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ โดยเฉพาะเดือนตุลาคม 2024 อุณหภูมิขึ้นไปถึง 1.4 องศาเซลเซียส จึงมีการพูดถึงการยกเลิกการใช้พลังงานจากฟอสซิล แต่สุดท้ายข้อสรุปก็ออกมาว่าจะมีการค่อยๆลดการใช้พลังงานจากฟอลซิลให้น้อยที่สุด แม้จะไม่สามารถยกเลิกการใช้พลังงานฟอสซิลซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหา “โลกเดือด” แต่นี่ถือเป็นจุดเปลี่ยนและเป็นก้าวที่ดีของการแก้วิกฤตนี้
อย่างไรก็ดี ชนะ กล่าวว่า คีย์เวิร์ดของ COP28 ครั้งนี้ คือจะมีการเพิ่ม Renewable Energy ขึ้นเป็น 3 เท่า ซึ่งตะวันออกกลางถือเป็นพื้นที่ซึ่งมีความคืบหน้าเรื่องนี้ค่อนข้างมาก อีกเรื่องที่สำคัญ คือ ลดเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานขึ้นไป 2 เท่า ซึ่งมองเห็นว่า ประเทศที่สามารถทำเรื่องนี้ได้ดีจะมี Key Success Factor 3 เรื่อง คือ
1.ต้องมีแผนที่ชัดเจน
2.มีแอคชั่นแพลน ซึ่งมีไทม์ไลน์ชัดเจน และมีเป้าหมาย
3.ใช้ความร่วมมือในลักษณะ PPP หรือ Public-Private- Partnership ซึ่งมี People เป็นส่วนร่วม แล้วจำลองพื้นที่เพื่อย่อเรื่องของประเทศขึ้นมาทดลองซึ่งคล้ายกับโครงการ ‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’ ของ เอสซีจี ซึ่งมีหลายประเทศที่ทำในลักษณะนี้
สำหรับประเด็นเรื่อง Net Zero ของประเทศไทย ชนะมองว่ามีแนวโน้มที่ดีในการไปสู่เรื่องของ Net Zero โดยยังคงยึดโรดแมฟที่มีอยู่อย่างชัดเจน ในส่วนของ แอคชั่นแพลน ประเทศไทยอยู่ในขั้นตอนที่สามารถทำให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ได้มากกว่านี้หากมีการวางแนวทางร่วมกันที่ชัดเจน
“หากภาครัฐกำหนดนโยบายชัดเจน มีการกำหนดในข้อกฏหมาย เงินสนับสนุน และดึงภาคเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องแต่ละเรื่องมาทำงานร่วมกัน จะช่วยให้เรื่องนี้สามารถดำเนินไปได้อย่างมีความคืบหน้ามากขึ้น”
ชนะยังอธิบายถึง ‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’ โครงการของเอสซีจีให้ฟังว่าภาครัฐโดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทยเข้ามามีส่วนร่วมกับโครงการนี้ค่อนข้างมาก ทำให้การตัดสินใจทำเรื่องของ ‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’ เป็นไปได้อย่างรวดเร็ว
“สิ่งที่ทำให้โครงการสามารถเดินหน้าไปด้วยดีนอกจากการสนับสนุนจากภาครัฐ TCMA หรือ อุตสาหกรรมซีเมนต์ กับ เอสซีจี หรือแม้กระทั่งสมาชิกยังมีส่วนให้โครงการเดินหน้า ตอนนี้มีการไปเอนเกจกับ CJPT (Commercial Japan Partnership Technologies Corporation) ของญี่ปุ่นที่ทางโตโยต้ามีความร่วมมือกับ 2-3 บริษัท เข้ามาอยู่ใน Cross Industry ในสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เข้ามาเชื่อมโยงในภาคของการขนส่ง และภาคของพลังงานที่มีการนำรถไฮโดรเจนเข้ามาทดลองวิ่ง รวมถึงการนำดาต้าโซลูชั่นเข้ามาคำนวนระยะทางในการขนส่งเพื่อลดระยะทางและประหยัดพลังงาน ตรงนี้คือส่วนที่ภาครัฐและภาคเอกชนเริ่มขับเคลื่อน ถ้ารัฐบาลสามารถออกกฏหมายหรือข้อกำหนดบางอย่างที่ใช้เฉพาะที่แบบ EEC จะทำให้เกิดความคืบหน้าไปได้อีกมาก”
นอกจากนี้ชนะยังอธิบายเพิ่มเติมว่าขณะนี้มองเห็นว่าระดับคนทำงานในกระทรวง ทบวง หรือกรมต่างๆมีความพร้อมทั้งความรู้และแรงขับเคลื่อนเรื่องเหล่านี้หากภาครัฐมีทิศทางและนโยบายชัดเจนคนทำงานก็พร้อมจะเดินหน้า
“การทำงานให้ง่ายขึ้นมีปัจจัยสำคัญ 2 เรื่อง คือ Knowing Gap ปรับเรื่องของความรู้ให้มีเท่ากันจะทำให้การคิดหรือการตัดสินใจทำอยู่ในหลักหรือกรอบความคิดเดียวกัน Doing Gap การลงมือที่ต้องอาศัยเรื่องของ Finance เข้ามามีส่วนในการขับเคลื่อน ใน COP28 ครั้งนี้เรื่อง Finance Gap ยังคงเป็นเรื่องใหญ่ที่มีการพุดคุยกันว่าประเทศที่เจริญแล้วจะมีการระดมทุน 100 billion US Dollars เพื่อช่วยเรื่องการเปลี่ยนผ่าน เน้นการให้เงินสนับสนุนจริง ซึ่งมี 2 ส่วนคือเงินที่ให้เปล่า และเงินที่ให้ดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งรัฐบาลเราอาจจะต้องมองว่าโครงการที่ยากอาจจะมีการได้เปล่าควบคู่ไปกับการกู้เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อน”
แผนการลดก๊าซเรือนกระจกในปี 2024 ชนะกล่าวว่าทั้ง ‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’ และ TCMA รวมถึงเอสซีจี มีการปฏิบัติตามเกณฑ์ 3 ข้อ ทั้งเรื่องของการมีโรดแมฟที่ชัดเจน มีแอคชั่นแพลนและไทม์ไลน์ รวมถึงเป้าหมายสู่ความสำเร็จ
“ในปีหน้า ‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’ มีการขยายผลเรื่องของป่าชุมชน โดยมีการนำตัวอย่างป่าชุมชนที่ดีจาก 38 ชุมชน มาเป็นตัวอย่างในการขยายผลอีก 3 ชุมชน เพื่อเป็นตัววัดว่าเมื่อมีองค์ความรู้ไหลเข้ามาสามารถทำให้ประสบความสำเร็จได้จากความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชน เรื่องที่สอง คือ เรื่องเกษตร เช่น การทำข้าวโลว์คาร์บอน มีหลายพื้นที่ทั้ง หนองโดน เสาไห้ หรือแม้แต่การขยายผลซึ่งเรากำหนดไว้ว่าอยากขยายให้ได้ 5 หมื่นไร่ ในส่วนของตัวสินค้าที่เป็นปูนคาร์บอนต่ำ ในสระบุรีปีหน้าจะใช้ปูนลดคาร์บอน 100% ด้านพลังงานทดแทนมีเป้าหมายการนำเชื้อเพลิงจากหญ้าเนเปีย หรือจากขยะการเกษตรต่างๆ รวมถึงขยะจากเทศบาลมาทำเป็นเชื้อเพลิงทดแทน ตั้งเป้าไว้ที่ 40% ขึ้นไป”
เช่นเดียวกับแผนงานระยะกลางที่ต้องทำควบคู่กัน คือ การเปลี่ยนผ่านทางด้านพลังงานซึ่งจะมีการเริ่มต้นคุยกับหน่วยงานราชการทั้งการไฟฟ้าภูมิภาคและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตทดลองทำเรื่อง Grid Modernization เชื่อมต่อพื้นที่แม้กระทั่งโรงงานต่างๆในการผลิตและการใช้ไฟในสระบุรี เพื่อดูข้อมูลการใช้ไฟสำหรับวางแผนในอนาคตว่าควรใช้เทคโนโลยีใดหรือใช้เงินสนับสนุนส่วนไหนเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย Net Zero ในอนาคต
“โมเดล ‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’ ประสบความสำเร็จได้ส่วนหนึ่งต้องขอบคุณทางราชการที่อยู่ในจังหวัดที่เชื่อมต่อกระทรวงต่างๆ โดยผู้ว่ามีการตั้งคณะทำงานและมีเอกชนโดยสภาอุตสาหกรรมสระบุรี และ TCMA เข้าไปเป็นคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อน 5 ด้านของ NDC ซึ่งมีด้านพลังงาน การเกษตร การจัดการขยะ การใช้พื้นที่ และ IBPU หรือ กระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ ทั้งหมดอยู่บนการวัดผลที่จะสอดคล้องกับเรื่องเหล่านี้”
สระบุรีถือเป็นจังหวัดที่มีทั้งอุตสาหกรรม การเกษตร มีเขตป่ากันชนมรดกโลก เช่น เขาใหญ่ ซึ่งเป็นแนวป่าที่สำคัญ รวมถึงมีสถานที่ท่องเที่ยวอย่างน้ำตก 7 สาวน้อย หรือพื้นที่รอบๆซึ่งมีความหลากหลายของตัวจังหวัด หากมองในมุมเศรษฐกิจถือว่ามีครบทั้ง ภาคอุตสาหกรรม การเกษตร และการท่องเที่ยว ดังนั้นจึงสามารถเป็นตัวแทนประเทศไทยในแต่ละด้านได้ การทดลองในสระบุรีเพื่อดูข้อจำกัดของภาครัฐในการปรับเปลี่ยน นั่นจึงเป็นปัจจัยที่ภาครัฐตัดสินใจใช้สระบุรีเป็นตัวอย่าง หากสระบุรีสามารถเป็นตัวอย่างในการแก้ปัญหาเรื่องต่างๆได้ ก็สามารถจูงใจให้พิ้นที่อื่นทำตามได้เช่นกัน