14 มีนาคม 2567…ชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ธนาคารกรุงเทพ ให้สัมภาษณ์พิเศษ SD Perspectives สื่อออนไลน์ด้านความยั่งยืนโดยเฉพาะหัวแรก ในประเด็น Requirement ของโลกด้านความยั่งยืน ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของผู้บริหารสูงสุดของธนาคารที่เผยมุมมองผ่านสื่อ ในงาน Economist Impact เปิดตัว 3rd annual Sustainability Week Asia มีทั้งเหล่าผู้นำทางธุรกิจ, ผู้กำหนดนโยบาย, ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์, ตัวแทนจากองค์กรระหว่างประเทศ NGOs และผู้นำด้านความยั่งยืนกว่า 800 รายภายในงาน และจากช่องทางออนไลน์อีกกว่า 2,000 ราย เพื่อร่วมกันหาคำตอบว่าสังคมจะสามารถบรรลุเป้าหมายด้านการแก้ไขสภาพภูมิอากาศให้เร็วขึ้นได้อย่างไรบ้าง
SD Perspectives : วันนี้การเปลี่ยนแปลงเรื่อง Sustainability เป็นเรื่องของภาคธุรกิจเอง จําเป็นจะต้องเปลี่ยนเพราะว่าถูกโลกบังคับ , Regurator บังคับ หรือว่าจะต้องเปลี่ยนโดยธรรมชาติคะ
ชาติศิริ : จริง ๆ ก็คือทั้ง 2 อย่างควบคู่กันไป ถ้าในด้านของการค้าเนื่องจากเราก็เป็นส่วนหนึ่งของ Global Supply Chain เพราะฉะนั้นบริษัทต่าง ๆ ที่ส่งสินค้าออกไปในโลกตะวันตกก็มี Requirement เรื่อง CBAM ดังนั้นก็ต้องปรับตัว แล้วก็ให้ผลิตภัณฑ์ของเขาสามารถเข้าสู่มาตรฐานทางด้าน ESG แล้วก็ Climate Related Financial ได้ เป็น Economic Requirement เรื่องหนึ่งที่จําเป็น
ในอีกด้านหนึ่ง ใช่ เป็นความต้องการทางสังคม และเป็นแรงกดดันจาก Regurator เพื่อจะต้องลด Carbon Emission ลงตาม Global แม้ว่าจะใช้เวลานาน แต่ช่วงนี้นับเป็นจุดเริ่มต้น
SD Perspectives : เวที 3rd annual Sustainability Week Asia ได้เห็นภาพอะไรบ้าง ที่อยากจะบอกทั้งบริษัทขนาดใหญ่และก็เอสเอ็มอี
ชาติศิริ : ผมเห็นว่าอย่างตัวอย่างที่เราได้ยินจากบริษัทใหญ่หลายบริษัท บริษัทรถยนต์ สายการบิน พลังงาน หรือบริษัทในประเทศไทยเช่น เอสซีจี จะเห็นว่าเขามีความตั้งใจและก็ผลักดันอย่างเต็มที่ในการจะหาทาง Decarbonization รวมถึง Net Zero ซึ่งบาง Initiativesก็ไม่ยาก แต่ต้องใช้เวลาเป็นขั้นเป็นตอนใช้การลงทุนและใช้เทคโนโลยีที่สูง ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจและก็น่าดีใจ เป็นจุดเริ่มต้น ให้อีกหลาย ๆ คนจะได้สามารถดําเนินการตามต่อไปได้กัน
SD Perspectives : สําหรับธนาคารกรุงเทพเอง ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ด้าน ESG วันนี้เราพัฒนาอย่างไรบ้าง
ชาติศิริ : เรามี Transition พัฒนาการด้าน Transformation Loan และ Transition Loan และ Green Finance ต่าง ๆ ที่เราให้กับลูกค้าของเรา เพื่อใช้ในการที่จะปรับตัวต่าง ๆ เหล่านี้ และให้เกิดการวางแผนการลงทุนในในธุรกิจพร้อมกันนี้ด้านหนึ่งก็ต้องพยายามที่จะทำงานกับหลาย ๆ เซคเตอร์ขึ้นมา เพื่อที่ว่าจะได้ทําให้สามารถมุ่งสู่เข้ามาตรฐานของโลกได้ในระยะกลางนะครับ
SD Perspectives : ธนาคารมีข้อกังวลสําหรับบริษัทในเมืองไทยด้านความยั่งยืนอย่างไร
ชาติศิริ : ทําอย่างไรให้บริษัทในไทยสามารถเปลี่ยนแปลงได้เร็วเพียงพอใน Requirement ของโลก เพื่อให้เรารักษาความสามารถในการแข่งขัน และจะให้เราเป็นส่วนหนึ่งของโลกตลอดเวลา
SD Perspectives : ธนาคารกรุงเทพ เตรียมเม็ดเงินในการเปลี่ยนแปลงประเด็นของโลกนี้เท่าไหร่
ชาติศิริ : เราก็มีโปรแกรมต่างๆนะครับ เช่น Green Loan ,Bualuang Transition หรือ Green Bond ,SLL ต่าง ๆ และมีผลิตภัณฑ์ซัพพอร์ต SMEs เพื่อให้สามารถเปลี่ยนผ่าน โดยเป็นเงินจํานวนหนึ่งเป็นระยะเวลา 5 ปี ในอัตราดอกเบี้ยหนึ่งนะครับ อันนี้ก็เป็นความพยายามที่เราก็อยากให้มีการเปลี่ยนผ่าน
ก่อนหน้านี้ภายในงานดังกล่าว ชาติศิริ ขึ้นบนเวทีในช่วง Spotlight Interview: ให้สัมภาษณ์กับ Edward Chui, director, Economist Intelligence Corporate Network, Economist Impact ดังนี้
Edward Chui: Net Zero ไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากปราศจากการมีส่วนร่วมของธนาคาร บทบาทของธนาคารและส่วนการเงินในการรักษาสมดุลระหว่างผลกำไรสำหรับประชาชน และความยั่งยืน คืออะไร
ชาติศิริ: บริษัทขนาดใหญ่ได้กำหนดเป้าหมายในการรักษาสมดุลระหว่างความยั่งยืน และผลกำไร สำหรับบริษัทขนาดเล็กถือว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายมากสำหรับการเปลี่ยนแปลง และเรียนรู้จากเรื่องดังกล่าว ซึ่งสิ่งจูงใจบางอย่างสามารถช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็กสามารถเปลี่ยนแปลงไปสู่แนวทางการปฏิบัติที่ยั่งยืนได้
Edward Chui: ธนาคารจะให้ความสนับสนุนด้านความยั่งยืนได้อย่างไร และมีเครื่องมือใดบ้างที่สามารถทำได้
ชาติศิริ: ธนาคารสามารถสนับสนุนได้ใน 3 ด้าน ด้านแรกธนาคารสามารถให้ความรู้ลูกค้าเกี่ยวกับข้อกำหนดด้านความยั่งยืนระดับโลก ขนาดของบริษัทที่แตกต่างกัน จะมีข้อกำหนดที่แตกต่างกันไปเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งเป็นการเดินทางที่ยาวนานต้องอาศับวัตถุประสงค์ทางเศรษฐกิจร่วมด้วย ด้านที่ 2 คือ การจัดหาเงินทุนเพื่อการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ อาทิพลังงานทดแทน การจัดหาเงินทุนเพื่อโซลาร์เซลล์ การบำบัดของเสีย และนวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน ในขณะเดียวกันก็ยังคงรักษาความสามารถในการแข่งขันเอาไว้ และด้านที่ 3 คือ การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ให้ลูกค้า เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายด้านความยั่งยืน
Edward Chui : เมื่อธนาคารสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ ธนาคารจำเป็นต้องแนะนำเครื่องมือทางการเงินใหม่หรือไม่
ชาติศิริ: เครื่องมือทางการเงินอย่างการเงินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นเครื่องมือที่ถูกแนะนำให้กับลูกค้าในภาคส่วนต่าง ๆ อาทิ พลังงานทดแทน และการแปลงเชื้อเพลิงชีวภาพ เป็นต้น นอกจากนี้เรายังมีตราสารหนี้สีเขียว ดัชนีตราสารหนี้ในความยั่งยืน เราเป็นผู้นำในด้านนี้มาเป็นเวลา 4 ปี และจะมีนำเสนอเพิ่มเติมอีกในปลายปีนี้
Edward Chui: ธนาคารกรุงเทพมีส่วนในการสนับสนุนการปรับตัวและบรรเทาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างไร
ชาติศิริ: เราได้ทำงานร่วมกับธนาคารอื่น ๆ ในประเทศไทย เช่นเดียวกับธนาคารแห่งประเทศไทย เราร่วมกันจัดทำคำประกาศเรื่อง ESG ร่วมกันในปี 2022 เพื่อขับเคลื่อนความพยายามในด้านความยั่งยืนของเรา เรามุ่งมั่นในการมอบความคิดริเริ่มที่มีความแตกต่างกันไปในแต่ละอุตสาหกรรมซึ่งดำเนินการโดยธนาคารในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการในส่วนของพลังงาน การขนส่ง การผลิต เกษตรกรรม การก่อสร้าง และการรีไซเคิลขยะที่เรากำลังดำเนินการอยู่
Edward Chui: เนื่องด้วยเอเชียต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงคาร์บอนเป็นอย่างมาก อุตสาหกรรมใดที่มีความท้าทายมากที่สุดในการจัดการกับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
ชาติศิริ: แต่ละอุตสาหกรรมมีความท้าทายที่แตกต่างกันออกไปในด้านของการลดคาร์บอน ซึ่งค่อนข้างยากในการแก้ปัญหา และต้องการเทคโนโลยีและเงินทุนเข้ามาช่วย ในประเทศไทยเรามีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก โดยจังหวัดสระบุรีจะกลายมาเป็นเมืองคาร์บอนต่ำแห่งแรก ท้ายที่สุดแต่ละภาคส่วนต้องทำงานเพื่อหาทางแก้ไขในแต่ละภาคส่วน และเดินหน้าต่อไปรับกับความท้าทายที่มีมากขึ้น
Edward Chui: กลยุทธ์ด้านความยั่งยืนใดที่ธุรกิจและบริษัทควรให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ
ชาติศิริ: กลยุทธ์ควรจะมีการดำเนินการตามแนวทางซึ่งมีขั้นตอนต่าง ๆ ที่ธุรกิจต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านความยั่งยืนจากรัฐบาล กลยุทธ์ดังกล่าวรวมไปถึงการปรับเปลี่ยนกระบวนการเพื่อให้ได้มาตรฐานในระดับภูมิภาค อาทิ มาตรการด้านคาร์บอนของสหภาพยุโรปสำหรับสินค้าข้ามพรมแดน หากต้องการส่งออกสินค้าไปยังประเทศในกลุ่มดังกล่าว บริษัทจะต้องตระหนักถึงข้อกำหนดจากห่วงโซ่อุปทานระดับโลกด้วย
Edward Chui: ในเรื่องของ ESG ทุกอย่างเป็นเรื่องการเมือง การพัฒนาทางภูมิศาสตร์ทางการเมืองในปัจจุบันกับความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนส่งผลต่ออาเซียนอย่างไร
ชาติศิริ: ไม่ใช่แค่ความสัมพันธ์สหรัฐ-จีนเท่านั้น ข้อพิพาทระหว่างรัสเซียและยูเครนยังส่งผลกระทบต่อภูมิภาคนี้เช่นกันเนื่องจากเป็นการทำให้ราคาของสูงขึ้น แต่ก็ยังมีโอกาสที่ดีในด้านต่าง ๆ อยู่ อาทิ การลงทุนในพลังงานทดแทน กลยุทธ์ทางธุรกิจอย่าง China Plus One จะนำไปสู่การลงทุนใหม่และข้อกำหนดของ ESG ใหม่ การกระจายความเสี่ยงแบบนี้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของธุรกิจได้
Edward Chui: การลงทุนอย่างต่อเนื่องมีความสำคัญ มีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลที่มีความเฉพาะเจาะจงในแต่ละประเทศและบริษัทในการปฏิบัติตาม ESG และความยั่งยืน
ชาติศิริ: ถือเป็นโอกาสดีเมื่อมีการลงทุนใหม่เกิดขึ้นในประเทศ สำหรับในอาเซียนการลงทุนใหม่นั้นจำเป็นต้องมาพร้อมแนวปฏิบัติด้านความยั่งยืน ทั้งในส่วนของบริษัทและภารรัฐ ถือเป็นโอกาสที่ดีในการปฏิบัติตามหลักปฏิบัติด้านความยั่งยืน
Edward Chui: อะไรคือความท้าทายที่สำคัญสำหรับคุณและลูกค้าในเรื่องความยั่งยืน?
ชาติศิริ: ความท้าทายแรกคือการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับข้อกำหนดด้านความยั่งยืน ซึ่งสิ่งนี้เป็นเทรนด์โลก เราจำเป็นต้องจัดการวิธีการวางแผนการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระเบียบโดยมีข้อกำหนดทางเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นไปได้ ความท้าทายที่สองคือสร้างความเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปได้ในแต่ละขั้น เพื่อสร้างความตระหนักรู้ และเดินทางไปในเส้นทางนี้
สรุป
1.ธนาคารมีเครื่องมือที่ทำให้เกิดการเงินที่มีความยั่งยืนได้ อาทิ การเงินในพลังงานทดแทน และตราสารหนี้สีเขียว
2.ในแต่ละภาคส่วนมีความท้าทายด้านความยั่งยืนที่ต้องแก้ปัญหาแตกต่างกันไป ซึ่งต้องใช้เทคโนโลยีและเงินทุน
3.ธุรกิจต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านความยั่งยืนของรัฐบาล ซึ่งมีความแตกต่างกัน
4.กลยุทธ์ อาทิ China Plus One สามารถนำไปสู่การลงทุนใหม่ และข้อกำหนดของ ESG ใหม่ได้
5.ความท้าทายที่สำคัญ คือ การสร้างความตระหนักรู้ในด้านความยั่งยืน เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง