26 พฤศจิกายน 2567…Exclusive Interview กับ ดร.ศิริกุล เลากัยกุล ผู้อำนวยการ Sustainable Brands Thailand เผยถึงบทบาทของ ปลาร้า และ หมอลำ ในการเชื่อมโยงวัฒนธรรมไทยสู่เวทีโลก พร้อมขับเคลื่อนความยั่งยืน (Sustainability) ในมิติของอาหาร ความเท่าเทียม และอารยธรรม
ปลาร้า
อาหารพื้นถิ่นที่เป็นรากฐานอารยธรรม
ดร.ศิริกุลชี้ให้เห็นว่า ปลาร้า ไม่เพียงแค่เป็นอาหารที่สะท้อนภูมิปัญญาท้องถิ่น แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของอารยธรรมมนุษย์ที่พัฒนาเทคนิคการถนอมอาหารเพื่อความอยู่รอด
“ศาสตร์การหมักดอง เช่น ปลาร้า เป็นส่วนหนึ่งของการสร้าง Food Security ในทุกอารยธรรม มันสะท้อนถึงการอยู่ร่วมกันของมนุษย์และธรรมชาติ การใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และการลดขยะในระบบอาหาร”
อีสานในฐานะภูมิภาคที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะปลากว่า 1,200 สายพันธุ์ มีการพัฒนาการหมักดองจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของปลาร้าที่มีความหลากหลายทั้งรสชาติและวิธีการหมัก ปัจจุบันการพัฒนาคุณภาพปลาร้าไทยทำให้ปลาร้าได้รับการยอมรับในระดับสากลและกลายเป็น Soft Power ด้านอาหารที่เชื่อมโยงไทยกับโลก
หมอลำ
อาชีพที่สร้างโอกาสและความเท่าเทียม
นอกจากความบันเทิง หมอลำยังเป็นสะพานเชื่อมโยงวัฒนธรรมและสร้างความเท่าเทียมในสังคม โดยเปิดโอกาสให้คนในชุมชน โดยเฉพาะผู้ที่อาจขาดแคลนทรัพยากร ได้ใช้ความสามารถเพื่อสร้างรายได้และความภูมิใจในตนเอง
“หมอลำไม่ได้แค่ร้องเพื่อความสนุก แต่ยังบอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิต และสร้างอาชีพที่มีศักดิ์ศรี คนอีสานหลายคนที่เป็นหางเครื่องหรือศิลปินสามารถส่งเงินกลับบ้านและพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัว”
นอกจากนี้ เนื้อเพลงหมอลำยังบันทึกประวัติศาสตร์ สะท้อนความเปลี่ยนแปลงในสังคม และช่วยสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Equality) ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญในฟอรัมภายในงาน ‘ปลาร้า หมอลำ อีสาน ทู เดอะ เวิลด์’ 2024
ปลาร้าและหมอลำ
วัฒนธรรมสร้างความยั่งยืน
ดร.ศิริกุลเน้นว่า ปลาร้าและหมอลำไม่ได้เป็นเพียง Soft Power แต่ยังเป็นเครื่องมือที่สำคัญต่อการสร้างความยั่งยืน
“การหมักดองเป็นส่วนหนึ่งของอารยธรรมที่ช่วยสร้าง Food Security ขณะเดียวกัน หมอลำก็ช่วยยกระดับชีวิตของคนอีสาน นี่คือ Sustainability ในแบบที่ผสานวัฒนธรรม อาหาร และความเท่าเทียมเข้าไว้ด้วยกัน”
งาน ‘ปลาร้า หมอลำ อีสาน ทู เดอะ เวิลด์’ 24 วันที่ 26-29 ธันวาคม นี้ จึงเป็นมากกว่าเทศกาล แต่เป็นเวทีที่นำเสนอวัฒนธรรมไทยสู่เวทีโลก พร้อมแสดงให้เห็นว่ารากฐานของวัฒนธรรมพื้นถิ่นสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับสากลได้อย่างยั่งยืน