TALK

Pluto นิทาน ดวงดาว ความรัก : เมื่อซีรีส์เป็นมากกว่าความบันเทิง สอดคล้อง SDGs เป้าหมาย 11

17 มกราคม 2568…“Pluto นิทาน ดวงดาว ความรัก” ไม่ใช่เพียงซีรีส์ที่เล่าเรื่องราวความรักและครอบครัว แต่ยังเป็นก้าวสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า “ความบันเทิง” สามารถช่วยเปลี่ยนแปลงได้จริง เป็นการสร้างผลกระทบเชิงบวกให้สังคม ด้วยการใช้ Universal Design ทีมผู้สร้าง GMMTV และผู้ดำเนินการผลิต snap25 ได้ทำงานร่วมกันอย่างเข้มข้นเพื่อทำให้ซีรีส์เรื่องนี้เป็นมากกว่าความบันเทิง

ผู้จัดและนักเขียนบทซีรีส์ คือหน้าที่ที่มีบทบาทสำคัญส่วนหนึ่ง ในการนำเสนอซีรีส์บันเทิงเผยแพร่ต่อสาธารณะ และการที่ซีรีส์ Pluto นิทาน ดวงดาว ความรัก ตั้งแต่ EP.2 ได้รับการกล่าวถึงอย่างกว้างขวางมาก เพราะป้ายบอกสถานที่ในจุดถ่ายทำเพื่อเล่าเรื่อง Universal Design ตามบทนั้น กรุงเทพมหานครได้เปลี่ยนป้ายแบบเดิมออกไป นำป้ายใหม่มาติดตั้งแทน พร้อมปรับป้ายให้สูงขึ้นเพื่อให้ประชาชนเดินได้อย่างสะดวก

กระแต-เสาวคนธ์ จารุจินดา

 

กองบรรณาธิการ SD Perspectives มีโอกาสได้พูดคุย แนวทางการสร้าง “ผลกระทบเชิงบวก” ผ่านซีรีส์ Pluto นิทาน ดวงดาว ความรัก กับ กระแต-เสาวคนธ์ จารุจินดา CEO บริษัทสแนป25 จำกัด ผู้จัดซีรีส์ Pluto นิทาน ดวงดาว ความรัก และน้ำหวาน-วลัยลักษณ์ สมจินดา Marketing Director บริษัท สแนป25 จำกัด หนึ่งในทีมเขียนบทโทรทัศน์ ซีรีส์ Pluto นิทาน ดวงดาว ความรัก

น้ำหวาน-วลัยลักษณ์ สมจินดา

แนวทางการทำงานของ Snap25
เมื่อศิลปะมาพร้อมเอกลักษณ์

เสาวคนธ์ เริ่มเล่าถึงเอกลักษณ์งานซีรีส์ของทีม Snap25 คือการเล่าเรื่องที่สนุก ซับซ้อน และคาดเดาไม่ได้

“เราทำงานกันเป็นทีม แชร์ไอเดียกันตลอด ไม่ว่าจะเป็นการดัดแปลงจากนิยายหรือการสร้างเรื่องใหม่ ทุกขั้นตอนเราจะประชุมและวิเคราะห์ร่วมกัน Snap25 มุ่งเน้นสร้างซีรีส์ที่มีเนื้อหาเข้มข้นและสะท้อนปัญหาสังคม”

เสาวคนธ์ กล่าวต่อเนื่อง แม้ว่าจะเป็นนิยาย ก็ต้องมาดูว่ามีจุดใดบ้างทีจำเป็นต้องปรับ แล้วต้องคุยกับคนเขียนบทลงรายละเอียดลงไปให้มีตรงไหนที่จะนำมาเป็นจุดเด่นหรือว่าเป็นประเด็นได้บ้างอะไร เช่น Pluto นิทาน ดวงดาว ความรัก นิยายที่ทาง GMMTV ส่งมา

เสาวคนธ์ เล่าต่อเนื่อง ถึงซีรีส์ Pluto นิทาน ดวงดาว ความรัก ทีม Snap25 ต้องการให้คนดูรู้สึกว่าซีรีส์แต่ละเรื่องที่ผลิตขึ้นมา มีความหมาย และผลกระทบในเชิงบวก ในการลงบททางทีมบทและทีมกํากับได้มีการพูดคุยและเวิร์กชอปกับคนตาบอดจริง ๆ ซึ่งวันนั้นก็คือไปกันทั้งทีมแล้วก็มีการคุยกันว่าคนพิการทางสายตามีวิถีชีวิตอย่างไรบ้าง เขาต้องเจออะไรบ้าง

“ความไม่เป็น Universal Design เป็นสิ่งที่จะต้องพบ ตามบทน้องเมจะต้องล้มแล้วไออุ่นมาช่วย เราก็หาโลเกชั่น สุดท้ายก็มาเลือกหน้าท้องฟ้าจำลอง Block Shot ตรงป้ายรถเมล เพราะเห็นปัญหามีอยู่จริง ตอนนั้นเราก็เพิ่งถ่ายในท้องฟ้าจำลอง”

วลัยลักษณ์ เสริมข้อมูลเบื้องหลังฉากสำคัญที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคมฉากนี้ว่า แรกสุดก็คิดไม่ต้องถ่ายสถานที่จริง แต่สร้างฉากขึ้นมา

“แต่พี่น้ำตาลนักแสดงนำของเราบอกว่า เราทำเรื่องนี้แล้ว เราหาของจริงกันเถอะ ซึ่งพี่เติ้ล ผู้กำกับฯ ก็พูดเหมือนกัน ก็ได้ป้ายรถเมลหน้าท้องฟ้าจำลอง”

 

ภาพบนในซีรีส์ (Before) ขอบคุณภาพ viu ..ภาพล่าง หลังซีรีส์ EP.2 ออนแอร์ไม่กี่วัน (After) ภาพ SD Perspectives

วลัยลักษณ์ ขยายความ Universal Design ไม่ใช่แค่ธีมในซีรีส์ แต่เป็นสิ่งที่ทีมต้องการผลักดันให้เกิดขึ้นจริงในสังคม เพราะความใส่ใจในรายละเอียด เช่น การปรับความสูงของป้ายบอกสถานที่ให้เหมาะสมกับทุกคน ฉากป้ายรถเมล์ในซีรีส์ได้รับแรงบันดาลใจจากปัญหาที่เกิดขึ้นจริง มีการพูดคุยกับพี่ท็อฟฟี่ (โสภณ ทับกลอง) ซึ่งพิการทางสายตา เป็นที่ปรึกษาของทีม

“ไม่เคยคาดหวังว่าคำว่า Universal Design จะทำงานได้จริงในสังคม” วลัยลักษณ์ เล่าด้วยความรู้สึกตรงไปตรงมา “หวานรู้จักประเด็นเรื่องคนพิการก่อนคำว่า Universal Design มากว่า 10 ปี แต่ไม่เคยคิดว่าคำนี้จะสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรได้ เพราะมันเหมือนเป็นแค่แนวคิดในใจเรา พอวันหนึ่งมีพื้นที่ให้ทำ เราก็ลงมือทำทันที และมันกลับเกิดการเปลี่ยนแปลงที่เกินฝันจริง ๆ”

วลัยลักษณ์ ยังกล่าวเสริมว่า หากวันหนึ่งมีใครที่เคยดู Pluto แล้วจดจำคำว่า Universal Design เอาไว้ และในอนาคตเขากลายเป็นคนที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบาย เช่น นายกรัฐมนตรีหรือผู้นำองค์กรด้านสังคม คำนี้อาจกลายเป็นแรงบันดาลใจที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น

“ตอนแรกเราไม่ได้คิดอะไรเลย แค่หวังให้มันเกิดขึ้น แต่สิ่งที่ได้กลับมามันเกินความคาดหมายจริงๆ” เธอกล่าวอย่างภูมิใจ เมื่อแนวคิด Universal Design ซึ่งเป็นบทในซีรีส์สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง

และอีกเรื่องหนึ่งที่อดถามไม่ได้เพราะสังเกตเห็นว่าในซีรีส์บางฉากนางเอกไออุ่นยกกระบอกน้ำดื่ม และยังส่งให้นางเอกเมธาวีดื่มด้วย หรือการใช้กล่องอาหารของนางเอกทั้งคู่ในฉาก

 

ขอบคุณภาพจาก viu

 

“การใส่ประเด็นสิ่งแวดล้อมในซีรีส์ ไม่ใช่เพราะบทพาไป แต่เป็นความตั้งใจ” วลัยลักษณ์เล่าต่อเนื่อง “เราใส่ประเด็นสิ่งแวดล้อมในทุกเรื่องที่สมเหตุสมผลและเป็นธรรมชาติ การให้ไออุ่นซึ่งมีอาชีพไรเดอร์ พกกระบอกน้ำติดตัว หรือการที่น้องเม ใช้กล่องข้าว เพราะสิ่งเหล่านี้สะท้อนชีวิตประจำวันของคนทั่วไปได้จริง คำถามของเราคือ ‘ถ้าทำได้และสมเหตุสมผล ทำไมเราถึงจะไม่ทำ?’

การสร้างรายละเอียดเล็กๆ เหล่านี้ไม่ได้เพียงช่วยยกระดับความสมจริงของซีรีส์ แต่ยังช่วยส่งเสริมแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อมในชีวิตประจำวันให้ผู้ชมได้สังเกตและซึมซับไปพร้อมกัน

 

ขอบคุณภาพจาก viu

 

นี่แหละ ใช่เลย!
“น้ำตาล-ฟิล์ม” เคมีลงตัว

 

เสาวคนธ์ เล่าถึงเบื้องหลังการแคสนักแสดงนำว่า การเลือกน้ำตาลและฟิล์มเป็นผลจากการพูดคุยร่วมกันระหว่าง Snap25 และ GMMTV โดยเฉพาะ พี่ออฟ-นพณัช ชัยวิมล ผู้กำกับฯ ที่เคยทำงานกับน้องทั้งสองมาก่อน

“พี่ออฟมองว่าเคมีของน้ำตาลกับฟิล์มมีอะไรบางอย่างที่น่าสนใจ เขาเลยเสนอว่าให้ลองแคสทั้งคู่ดู ซึ่งตอนที่ทีมได้เห็นการแสดงในวันแคสติ้ง ทุกคนต่างพูดว่า ‘นี่แหละ ใช่เลย!’ ”

ความเหมาะสมของทั้งสองนักแสดงไม่ได้มาจากแค่เคมีที่เข้ากันเท่านั้น แต่ยังมาจากประสบการณ์และความสามารถที่พวกเขาสั่งสมมา

น้ำตาลกับฟิล์มมีศักยภาพที่โดดเด่นในตัวเองอยู่แล้ว พอเริ่มทำงานจริง เราก็เห็นชัดว่าทั้งคู่เติมเต็มบทบาทได้อย่างสมบูรณ์แบบ ถ้าดูตอนแรก คุณจะเห็นว่าทำไมต้องเป็นน้ำตาล-ฟิล์ม แต่ถ้าดูจนจบ 12 ตอน คุณจะรู้เลยว่า ต้องเป็นพวกเขาเท่านั้น ทุกครั้งที่เราตัดต่อหรือดูงานหลังกล้อง ชัดเจนมากว่าเคมีของน้ำตาลกับฟิล์มใช่เลย”

การเลือกน้ำตาลและฟิล์มมาเป็นนักแสดงนำของ Pluto ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของความสามารถ แต่ยังเป็นการตัดสินใจที่สะท้อนถึงการทำงานเป็นทีมระหว่าง Snap25 และ GMMTV ที่เน้นทั้งศักยภาพและเคมีที่สมบูรณ์แบบของนักแสดงเพื่อสร้างซีรีส์ที่ทรงพลังทั้งในด้านเนื้อหาและการแสดง

 

ซีรีส์ Pluto นิทาน ดวงดาว ความรัก
บทส่งท้าย: มากกว่าความบันเทิง

 

“Snap25 ไม่ใช่แค่บริษัทผลิตซีรีส์ แต่เราคือทีมที่ต้องการสร้างแรงบันดาลใจ ผลตอบรับจากแฟนๆ Pluto และการเปลี่ยนแปลงในสังคม เช่น การปรับป้ายบอกสถานที่จริงๆ คือสิ่งที่ทำให้เรารู้ว่าซีรีส์เรื่องนี้ได้สร้างผลกระทบเชิงบวกจริงๆ เราหวังว่าผู้ชมที่ได้รับชม Pluto จะซึมซับแนวคิด Universal Design และนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะแม้จะเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ แต่ก็สามารถสร้างสังคมที่ดีกว่าได้”

เสาวคนธ์ กล่าวในท้ายที่สุดว่า Pluto นิทาน ดวงดาว ความรัก ไม่ใช่เพียงซีรีส์บันเทิงอย่างเดียว แต่สามารถเป็น Mindset ที่เป็นบทพิสูจน์ว่าศิลปะและความบันเทิงสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในสังคมได้จริง Snap25 และ GMMTV ได้ร่วมกันสร้างงานที่ไม่เพียงให้ความสุขแก่ผู้ชม แต่ยังสร้างความตระหนักรู้และผลกระทบที่ยั่งยืนในระดับสังคม

หากคุณยังไม่ได้ชม Pluto นิทาน ดวงดาว ความรัก ลองดูสิ แล้วคุณจะได้เห็นว่า Universal Design เป็นมากกว่าคำพูด—It’s a movement !

ขอบคุณภาพบางส่วนจาก viu

เนื้อหา ซีรีส์ Pluto นิทาน ดวงดาว ความรัก ก่อนหน้านี้

1.Universal Design @ Pluto นิทาน ดวงดาว ความรัก
2.Pluto ซีรีส์ส่งต่อ “ผลกระทบเชิงบวก”ให้สังคมด้วย Universal Design
3.SDGs เป้าหมาย 11  

 

You Might Also Like