TALK

Sustainability Aligned with Dhamma @ Makha Bucha Day

12 กุมภาพันธ์ 2568…วันนี้ปีนี้ ตรงกับวันสำคัญทางพุทธศาสนา “วันมาฆบูชา” กองบรรณาธิการ SD Perspectives มีโอกาสฝากคำถาม “Sustainability และ ธรรมะ” กับผู้ดำเนินรายการ ชีวิตไม่สิ้นหวัง  “กิติภาส์ นาคพงศ์” ในการสนทนาธรรมกับ “พระมหาไพบูลย์ อภิปุณฺโณ”

ขอเริ่มต้นที่เนื้อหา “รายการชีวิตไม่สิ้นหวัง” พูดถึงเรื่องความหวังของคนเราในยุคปัจจุบัน หลายคนก็อาจจะนึกถึงว่า มีความหวังว่าจะอยู่บนโลกใบนี้ได้อย่างมีความปกติสุข เหมือนที่เคยอยู่มาก่อนได้อย่างไร แต่ก็ดูเหมือนกับว่าโลกมีความเปลี่ยนแปลงไปมากเหลือเกินเช่นคำว่า “โลกร้อน” ก็บอกว่าตอนนี้เปลี่ยนเป็น “โลกเดือด” แล้ว อุณหภูมิของแต่ละประเทศมีการเปลี่ยนแปลงกันไปอย่างสุดโต่ง

เทรนด์ หรือว่าแนวโน้ม ซึ่งเป็นความนิยม เป็นค่านิยมใหม่ๆ สำหรับการที่จะอยู่ในโลกใบนี้ การจะทำธุรกิจอะไรก็แล้วแต่ ที่จะต้องคำนึงถึง นั่นก็คือเรื่องของความยั่งยืนค่ะ เราก็จะมากราบเรียนถามพระอาจารย์พระมหาไพบูลย์ อภิปุณฺโณ นะคะ ว่าในเรื่องของ ‘ความยั่งยืน’ กับ ‘ธรรมะ’ ในพระพุทธศาสนา มีพูดถึง มีเกี่ยวข้อง มีแนวคิดที่จะเป็นประโยชน์กับพวกเราได้อย่างไรกันบ้างคะ

“กราบ นมัสการ พระอาจารย์ค่ะ เดี๋ยวนี้ Sustainable จะเป็นเรื่องที่กำลังมาแรง ต้องมีการปรับตัวในทุก ๆ องค์กร เลยก็ว่าได้ ดังนั้น เราสนทนาธรรมกัน ก็อยากจะกราบเรียนท่าน ถึงมุมมองทางด้านธรรมะของพระพุทธเจ้า”

พระมหาไพบูลย์ อภิปุณฺโณ : เจริญพร Sustainability แปลเป็นภาษาไทยก็คือ ความยั่งยืน ต้องมา มาเทียบเคียงกัน บางทีพระพุทธเจ้าท่านอธิบายเรื่องอะไร ท่านจะอธิบายจากข้อต่าง เปรียบเทียบคู่ต่าง ก่อน ในที่นี้อาจจะทำให้ท่านผู้ชมได้เห็นภาพชัดเจนก่อนว่า ถ้าไม่ยั่งยืน คือเห็นแก่ตัว

ถือว่าเอาประโยชน์ของตัวเองเป็นที่ตั้ง คนอื่นเป็นอย่างไรฉันไม่แคร์ อันนี้คือไม่ยั่งยืน ถ้าจะเอาแต่ประโยชน์ส่วนตน ฉันจะให้ได้มาก ๆ ฉันไม่ได้เผื่อแผ่ใคร คิดแต่เผื่อตัวเอง นี่คือไม่ยั่งยืน

พอเราเห็นแก่คนอื่น ความยั่งยืนจึงจะเกิดขึ้นได้ นี่เป็นหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าอยู่แล้ว ที่ว่าเห็นแก่ประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น และประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ประโยชน์ตน คือถ้าอยากจะนึกภาพตาม เป็นสี่เหลี่ยม ก็มีวงกลม นี่คือตัวเรา แต่ถ้าจะเอาแต่ตัวเราเลย กลมๆ ของเรา ฉันจะเอาแค่นี้ อันนี้คือประโยชน์ตัวเอง แต่ถ้าเราไม่เอาประโยชน์ตัวเอง เอาแต่ของคนอื่น นั่นคือประโยชน์คนอื่น

ทีนี้ส่วนประโยชน์ 2 ฝ่ายเนี่ย มันจะมีอยู่ 2 นัยยะ ก็คือส่วนร่วม ส่วนร่วมก็คือ Intersect ระหว่าง 2 คน เป็นประโยชน์ร่วมกัน Intersect ร่วมกัน ที่วงกลม 2 อันมาทับกัน มา intersect กัน ตรงส่วนที่เป็น Intersect นั่นแหละ ก็เรียกว่าส่วนร่วม แล้วก็ส่วนรวม ส่วนรวมก็คือทั้งสี่เหลี่ยมนี้เลย

พระมหาไพบูลย์ อภิปุณฺโณ อธิบายต่อเนื่อง

“เราจะเอาตรงส่วนร่วมและส่วนรวม แต่ว่าเราจะต้องไม่ใช่เห็นประโยชน์ของตัวเองก่อน แต่เห็นประโยชน์ของส่วนร่วม และประโยชน์ของส่วนรวมมาก่อน ตรงนี้ก็คือ ทางสายกลาง ในคำสอนของพระพุทธเจ้าจึงเป็นลักษณะที่ไม่เบียดเบียนคนอื่น เป็นไปเพื่อประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น และประโยชน์สองฝ่าย และทางสายกลางก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา และถ้าเราอยู่ในหลักของศีล สมาธิ ปัญญา ได้มาตั้งแต่สัมมาทิฏฐิ จนถึงสัมมาสมาธิ กว้าง ๆลักษณะการปฏิบัติตามนี้กว้าง ๆ จะเป็นแนวทางที่ว่าอยู่ในลักษณะที่ยั่งยืน นี่คือประการที่ 1”

ประการที่ 2 คำว่ายั่งยืน ไม่ได้หมายความว่าเที่ยงแท้ มั่นคง ไม่ใช่ ยั่งยืนไม่ใช่เที่ยงแท้ ถาวร เพราะคำสอนของพระพุทธเจ้า จะไม่ใช่เป็นไปเพื่อความยึดถือ เที่ยงแท้ มั่นคง ไม่ใช่ แต่ให้เห็นความไม่เที่ยง นั่นคือทางสายกลาง การเห็นความไม่เที่ยง คือทางสายกลาง

พอเราเห็นความไม่เที่ยง คือทางสายกลางแล้ว จะทำให้เกิดความยั่งยืนได้

ต้องเข้าใจก่อนนะ ยั่งยืนไม่ใช่ว่าที่ยิ่งใหญ่แน่นอน

ยั่งยืนหมายถึงความที่มันไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลง เราจึงต้องปรับอยู่เสมอ

พระมหาไพบูลย์ อภิปุณฺโณ : มรรค 8 หรือว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เนี่ยเป็น เป็นแนวทาง เป็นกลางๆ ซึ่งมันกว้างมาก เรายังไม่ได้เจาะจงถึงอาชีพอะไรหรอก เพราะว่าทุกอาชีพมันปฏิบัติได้หมด ตั้งแต่ยาม คนขับรถ จนถึงนักการเมืองข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ คุณก็สามารถที่จะมีมรรค 8 ได้หมด แต่ว่าแต่ละคนจะมีลักษณะที่ต้องปรับเปลี่ยนไปของแต่ละคนไม่เหมือนกัน

ถ้าเป็นผู้ใหญ่หน่อย คุณต้องมีพรหมวิหาร 4 มากหน่อย ถ้าเป็นผู้น้อยหน่อย คุณก็จะต้องมีความเพียรมากหน่อย มันจะต้องปรับให้แตกต่างกัน เพราะฉะนั้น Sustainability หรือความยั่งยืน ไม่ใช่ความเที่ยงแท้แน่นอน แต่เป็นการที่เห็นความไม่เที่ยงแล้วต้องรู้จักปรับตัว ถึงจะเป็นความยั่งยืนได้ คือเราต้องทำอย่างนี้อยู่ตลอด

กิติภาส์ ถามต่อเนื่อง “ถ้าพูดให้เป็นรูปธรรม โยมจะสมมุติว่าอย่างนี้ใช่ไหม เช่น ตอนนี้เรามีปัญหาเรื่องฝุ่น ออกไปข้างนอกนี่จะหายใจลำบาก แล้วเขาก็บอกว่าสาเหตุของฝุ่นเนี่ย มีทั้งจากการเผา และหลาย ๆ อย่างในวงกว้างระหว่างประเทศด้วยซ้ำไป กับอีกอย่างหนึ่งก็คือ เรื่องของควันจากเชื้อเพลิงที่ไม่เหมาะสม เช่น ดีเซล เป็นต้น อย่างนี้ถ้า sustainability เราก็ต้องปรับตัว ก็คือต้องพยายามขจัดเหตุ”

พระมหาไพบูลย์ อภิปุณฺโณ : ถ้าพูดถึงในทางศาสนาก่อน Sustainability ในที่นี้ เอาที่ไม่ใช่ก่อน ก็คือถ้าเราเริ่มมีมิจฉาวาจา ด่ากันว่ากัน นั่นไม่ Sustainability มันจะไม่ยั่งยืน เพราะมันจะมีกลุ่มคนที่ถูกถูกประนาม เรียกว่า Shaming หรือประณาม พวกนี้ก็จะเสียกำลังใจ จะไม่สามารถจะช่วยแก้ปัญหาใด ๆ ได้ ไม่ดีเลย ทางสายกลางในที่นี้คือไม่เบียดเบียนตัวเองและผู้อื่น ก็คือไม่มีมิจฉาวาจา อย่าไปมีมิจฉาวาจา หรืออย่าไปคิดร้ายกับคนอื่น

ต้องดูที่เหตุว่ามันเกิดจากอะไร ถึงจะมาจุดที่คุณโยมติ๋วจะพูดถึงว่า ถ้ามันเกิดจากเหตุนั้น เราก็เข้าไปลดเหตุนั้น ขอความร่วมมือ ถ้าเขามีปัญหาทำอย่างไร พวกได้ประโยชน์อะไรต่างๆ คุณมาควรจะมาช่วย ให้ความช่วยเหลือกัน เกื้อกูลกัน มีเมตตากันจึงจะไปได้ ก็จะสามารถทำให้แก้ปัญหานี้ไปได้ โดยที่บางคนคือถ้าจะดูแต่ผลประโยชน์ว่า ฉันไม่ได้มีผลกระทบอะไรนี่ ฉันก็เลยจะไม่ออกเงิน จะไม่ช่วย ในขณะที่ผู้ที่มีผลกระทบเต็มๆ อย่างเช่นว่า เขาต้องใช้เงินมากในการที่จะแก้ปัญหาเรื่องเชื้อเพลิงของเขา สมมุติบริษัทขนส่ง คุณมีรถร้อยคัน ทั้งหมดเป็นดีเซลหมด แล้วคุณบอกว่าไม่ให้เขาวิ่งเลย เขาจะทำอย่างไร หรือโรงงานน้ำตาล คุณไม่รับอ้อยที่เกิดจากการเผา เราจะต้องมาช่วยกันคิดแก้ปัญหา โดยที่ไม่ใช่ว่าไปโทษเขาฝ่ายเดียว แล้วก็ต้นทุนก็จะไปตกกับเขาฝ่ายเดียว แต่ไอ้คนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง แต่จะได้รับผลกระทบทั้งนั้น ควรจะมาช่วยอย่างไร พอเราพูดคุยกันด้วย การที่ไม่มีมิจฉาวาจา มีสัมมาวาจา

ทางออกที่ 3 จะเกิดขึ้นมา ทางออกที่ 3 เกิดขึ้นได้ เพราะว่าจากการรู้สึกถึงความมีเมตตา ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ คิดจะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน นั่นจึงทำให้จะมีทางออกที่สามเกิดขึ้นมา เป็นการที่ไม่เบียดเบียน ตัวเอง ผู้อื่น และทั้งสองฝ่าย เป็นการที่อยู่ใน มรรค 8 ศีล สมาธิ ปัญญา ก็จะทำให้มีแนวทางอื่น ๆ ต่อไป ที่จะแก้ปัญหาขึ้นมาได้

Sustainability นอกจากเป็นทางสายกลาง ไม่เปรียบเทียบคนอื่น เพื่อประโยชน์ทั้งสองฝ่าย สอง เป็นลักษณะที่ไม่ใช่ความเที่ยงแท้ แน่นอน การเห็นความไม่เที่ยง จะมาเน้นเรื่องทางจิตใจ ว่าการที่เราปฏิบัติตามทางสายกลางแล้วเนี่ย อาจจะให้เกิดความยั่งยืนในตัวเราเอง ให้เข้าสู่ความเป็นอมตะได้ แต่ความยั่งยืนไม่ใช่ความเที่ยงแท้แน่นอนประการที่ 2

แต่ความยั่งยืนในที่นี้คือความเป็นอมตะ ในการที่เราจะพ้นจากปัญหาที่มันเกิดขึ้นอยู่ตลอด แน่นอนว่าในโลกเรามีปัญหาเพราะมันมีข้อจำกัด มีปริมาณที่จำกัด มีเวลาที่จำกัด เราจะให้เข้าถึงความที่ไม่มีข้อจำกัดนี้ได้ คือการปฏิบัติธรรม จนกระทั่งเข้าถึงความเป็นอริยบุคคล จนกระทั่งพ้นทุกข์ไปในที่สุด นั่นจะเป็นจุดที่ไม่ต้องมา มาพูดถึงเรื่องว่าใครจะต้องเสียประโยชน์ ใครจะต้องได้ประโยชน์

นี่คือ สูงสุดในความที่ว่า จิตใจเราเนี่ย เข้าสู่ความเป็นอมตะได้ คือยังยืนจริง ๆ นี่คือปรมัตถ์ เป็นอมตะ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปไหน เป็นความเป็นอมตะ ซึ่งก็คือมาตามตั้งแต่ขั้นที่ 1 มาละเอียดจนถึงขั้นที่ 2 แล้วไปต่อไปจนถึงขั้นที่ 3เป็นตามแนวทางที่จะต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ พอเราทำตามทางนี้มา มันก็จะให้การปฏิบัติของเราก้าวหน้าได้สูงขึ้นได้

กิติภาส์ ถามต่อเนื่องว่า “เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าจะให้กล่าวโดยสรุปง่ายๆ สำหรับเรื่องของธรรมะกับความยั่งยืน ท่านจะสรุปได้อย่างไรคะ”

พระมหาไพบูลย์ อภิปุณฺโณ : ในคำสอนของพระพุทธเจ้า จะสอดคล้องกันเรื่องความยั่งยืนแน่นอน แล้วเราก็มี 3 ระดับ อย่างที่ว่า ในระดับตั้งแต่เห็นกันเป็นตัวๆ คนนั้นกับคนนี้ คือเพื่อทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อส่วนรวม ส่วนร่วม อันนี้คือข้อที่ 1

ข้อที่ 2 อย่าไปหลงว่ามันเป็นสิ่งที่เที่ยงแท้แน่นอน แต่มันคือความไม่เที่ยง ตรงกับหลักธรรมข้อหนึ่ง หลักธรรม อปริหานิยธรรม และสาราณียธรรม คือ Sustainability โดยตรงเลย Sustainability ไม่ใช่เที่ยงแท้แน่นอน ไม่เที่ยง หมายถึงต้องมีเหตุความเสื่อมและความเจริญ ความเจริญคือ อปริหานิยธรรม 6 ประการ มาคุยกัน ตกลงกันให้ดี หรือไม่ก็สาราณียธรรม ให้ระลึกถึงกัน มีเมตตาทั้งต่อหน้าและลับหลัง จะเป็น Sustainable

ข้อที่ 3 ถ้าเมื่อเราเห็นแต่ผู้อื่นด้วย ทั้งสองฝ่ายด้วย เห็นความไม่เที่ยงแล้ว ตัวเราเองก็จะได้ประโยชน์ ในการที่เราจะมีความก้าวหน้าในการปฏิบัติ เข้าถึงความยั่งยืนที่แท้จริง คือ สู่ปรมัตถธรรมได้

“เนื่องจากรายการของเรา เป็นรายการธรรมะนะคะ ดังนั้นเราก็มองทุกอย่างเป็นเรื่องของธรรมะไปทั้งหมด รวมถึงทั้งเรื่องของ Sustainable Sustainability หรือว่าความยั่งยืนนี้ด้วย และทั้งหมดนี้ก็คือรายการชีวิตไม่สิ้นหวังในวันนี้นะคะ สวัสดีค่ะ” กิติภาส์ กล่าวปิดท้ายรายการ

You Might Also Like