TALK

การเปิดเผยข้อมูล GHG มีต้นทุน! ต้องใช้แรงจูงใจจากตลาดทุนและภาครัฐ

13 มีนาคม 2568…การเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) และการทวนสอบข้อมูลของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์ไทยกำลังค่อยๆ ขยับขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ด้วยแรงผลักดันจากมาตรฐานความยั่งยืนของตลาดทุนและแรงจูงใจจากภาครัฐ

ดร. ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้กล่าวไว้ในงาน Forum: “Carbon Ecosystem: โครงสร้างเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ Low-carbon Economy” ว่า

“บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มีประมาณ 860 บริษัท ก่อนหน้านี้มีเพียง 20% ที่เปิดเผยข้อมูล GHG พร้อมการทวนสอบ แต่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 30% แล้ว ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีว่าภาคธุรกิจไทยกำลังก้าวไปสู่มาตรฐานความยั่งยืนที่เข้มข้นขึ้น”

หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้บริษัทไทยเปิดเผยข้อมูลคาร์บอนได้มากขึ้น คือ แรงจูงใจจากภาครัฐ ผ่านกองทุน Thai ESG Fund ซึ่งใช้เกณฑ์การคัดเลือกบริษัทที่เข้าลงทุนได้ 2 แนวทาง ได้แก่ มี ESG Rating และ เปิดเผยข้อมูลคาร์บอนที่ผ่านการตรวจสอบและกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

สำหรับบริษัทขนาดกลางและเล็กที่ยังไม่มี ESG Rating การเลือกแนวทางเปิดเผยข้อมูล GHG พร้อมทวนสอบ จึงเป็นทางเลือกที่ช่วยให้สามารถเข้าถึงนักลงทุนที่สนใจ ESG ได้มากขึ้น

3 ขั้นตอนสำคัญของการทวนสอบข้อมูล GHG อย่างถูกต้องและผ่านการทวนสอบต้องใช้กระบวนการที่เป็นระบบ

1. จัดทำระบบบัญชีคาร์บอน บริษัทต้องมีระบบจัดเก็บข้อมูลการใช้พลังงาน เช่น ค่าใช้จ่ายด้านน้ำมัน ค่าไฟฟ้า จากทุกโรงงานและทุกมิเตอร์ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยเวลาและทรัพยากรในการดำเนินการ

2. คำนวณปริมาณการปล่อยคาร์บอน นำข้อมูลพลังงานที่เก็บรวบรวมมาใส่สูตรคำนวณตามมาตรฐานขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) เพื่อแปลงค่าใช้พลังงานเป็นปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์

3. การตรวจสอบโดยบุคคลที่สาม (Third Party Verification) องค์กรต้องนำข้อมูลที่คำนวณได้เข้าสู่กระบวนการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญภายนอก เพื่อยืนยันความถูกต้องของข้อมูล และเสริมสร้างความน่าเชื่อถือในการเปิดเผยต่อสาธารณะ

 

ดร. ศรพล (ซ้าย) บนเวที Forum: “Carbon Ecosystem: โครงสร้างเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ Low-carbon Economy”

“ทั้ง 3 ขั้นตอนนี้มีต้นทุนด้านเวลาและค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมบริษัทจึงค่อยๆ ทยอยเปิดเผยข้อมูล แต่ปัจจุบันมีการพัฒนาและปรับปรุงให้กระบวนการนี้เป็นไปได้ง่ายขึ้น โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้จัดทำเครื่องมือช่วยคำนวณ (GHG Calculator) เพื่อสนับสนุนบริษัทให้สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ”  

แม้ว่ากระบวนการทวนสอบและเปิดเผยข้อมูล GHG จะต้องใช้เวลาและทรัพยากร แต่แนวโน้มแสดงให้เห็นว่าบริษัทจดทะเบียนไทยมีความก้าวหน้ามากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยแรงจูงใจจากตลาดทุนและนโยบายรัฐ

“เราเห็นพัฒนาการเชิงบวก บริษัทต่างๆ ค่อยๆ ปรับตัวและพัฒนากระบวนการจัดเก็บข้อมูลคาร์บอนของตนเอง ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการเตรียมความพร้อมสู่มาตรฐานความยั่งยืนระดับสากล” ดร. ศรพล กล่าวสรุป

You Might Also Like