TALK

ดร.สายศิริ ศิริวิริยะกุล “ชาวไร่อ้อย&สิ่งแวดล้อม คือครอบครัว KTIS รักษ์โลก”

8 กรกฎาคม 2562… KTIS ตระหนักว่า องค์กรธุรกิจมิอาจแยกออกจากชุมชนและสิ่งแวดล้อมได้ ดังนั้น ความยั่งยืนของธุรกิจ จึงต้องควบคู่ไปกับการพัฒนาคนสร้างความมั่นคงยั่งยืนให้กับชุมชนและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม สร้าง “ชาวไร่อ้อยมั่งคั่ง กลุ่ม KTIS มั่นคง”

หลังจากรับนามบัตร ดร.สายศิริ ศิริวิริยะกุล ผู้อำนวยการฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ และการสื่อสารองค์กร บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอรปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS  ที่ทำจากเยื่อกระดาษชานอ้อยของกลุ่ม KTIS เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

คำถามแรกก็มาทันทีถึงการทำหน้าที่ 2 ตำแหน่ง ซึ่งปกติตำแหน่งทั้งสองจะแยกผู้บริหารที่ดูแล และโดยหน้าที่ก็จะสื่อสารถึงกลุ่มเป้าหมายแตกต่างกันไป

“ปี 2557 ที่ KTIS จะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ผู้บริหารก็เห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุน รวมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ และสื่อก็อยากรู้เรื่องของบริษัทมากขึ้น แม้ว่าจะเป็นคนละมุมก็ตาม ดังนั้นเพื่อให้การสื่อสารเป็นไปในทิศทางเดียวกันก็ขอให้ทำทั้ง 2 หน้าที่พร้อมกัน”

นครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์

มาถึงปี 2561 เป็นต้นมา คือปีที่นักลงทุน และสื่อจะต้องถาม ดร.สายศิริ เพิ่มมากขึ้นถึงความร่วมมือระหว่าง KTIS กับบริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGCในสัดส่วน 50 : 50 ก่อสร้างครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ (Nakhonsawan Biocomplex) หรือ NBC บนพื้นที่อีกส่วนหนึ่งของ KTIS กว่า 2,000 ไร่ ในอำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ แหล่งปลูกอ้อยพันธุ์ดีของไทย มูลค่าประเมินการลงทุนนับหมื่นล้านบาท

ที่นี่จะเป็น Biocomplex แบบครบวงจรที่ใช้วัตถุดิบจากอ้อย แบ่งโครงการเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างโรงหีบอ้อยมีกำลังการผลิต 24,000 ตันต่อวัน โครงการก่อสร้างโรงผลิตเอทานอล มีกำลังการผลิต 600,000 ลิตรต่อวัน (หรือราว 186 ล้านลิตรต่อปี) และโรงผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ มีกำลังการผลิตติดตั้งไฟฟ้า 85 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 475 ตันต่อชั่วโมง คาดว่าจะสามารถดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ภายในไตรมาสที่ 1/2564

ระยะที่ 2 คาดว่าจะลงทุนในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เป็นมิตรกับสังคมและสิ่งแวดล้อม คาดว่าจะสามารถดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ภายในไตรมาสที่ 1/2566 โดยการลงทุนนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์คำนึงถึงหลักการด้านความยั่งยืนใน 3 มิติ คือ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

การที่กลุ่ม KTIS เดินหน้าสู่การเป็นส่วนหนึ่งของ Hub ประเทศไทยด้าน Bioplastic ได้นั้น รวมถึงมีผลพลอยได้จากน้ำตาล แบบครบวงจร นอกจากธุรกิจ Bio Product ยังมีธุรกิจ Bio Energy ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการผลิตน้ำตาล ได้แก่ โรงงานเยื่อกระดาษฟอกขาวจากชานอ้อย ซึ่งขณะนี้มีแพคเกจจิ้งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมร่วมทุนกับจีน วางขายในประเทศจีนแล้ว เร็วๆนี้จะวางขายในประเทศไทย ส่วนโรงงานเอทานอลมาจากกากน้ำตาล และโรงไฟฟ้าชีวมวลจากชานอ้อย

ธุรกิจต่างๆ ที่เป็นผลพลอยได้จากอ้อยและน้ำตาลนั้น เกิดจากความแข็งแรงของธุรกิจน้ำตาล มีครอบครัวชาวไร่อ้อยกลุ่มพนักงาน KTIS ที่เข้มแข็ง

ครบวงจรทั้งเอทานอล โรงไฟฟ้า จนกระทั่งถึงเยื่อกระดาษชานอ้อย โดยในโรงานน้ำตาลใช้โซล่าร์เซลล์เป็นส่วนหนึ่งในการผลิตกระแสไฟฟ้า

น้ำตาลถูกสร้างจากไร่ ชาวไร่อ้อยคือครอบครัว

ดร.สายศิริ อธิบายต่อเนื่องว่า เจตนารมณ์ผู้ก่อตั้งบริษัทตั้งแต่ 50 ปีที่แล้วคือ ชาวไร่อ้อยมั่งคั่ง กลุ่ม KTIS มั่นคง ซึ่งจริงๆ แล้วคือ CSR in Process เพราะบริษัทไม่ได้มองเพียงว่าทำธุรกิจ ซื้ออ้อยมาแล้วจบกัน

“ชาวไร่อ้อยคือส่วนหนึ่งของกระบวนการที่จะได้วัตถุดิบที่ดี ชุมชนตรงนั้นจริงๆ ก็คือชาวไร่อ้อย เพราะฉะนั้นการดูแลชาวไร่อ้อยและชุมชนต้องไปด้วยกัน เพราะโดยสภาพรอบๆ โรงงานก็จะเป็นชุมชนที่ประกอบอาชีพเป็นชาวไร่ หรือไม่ก็เป็นพนักงานของ KTIS ดังนั้นทั้งพนักงานและชาวไร่อ้อยคือครอบครัวของ KTIS จึงรวมกันเป็น DNA คน KTISว่า คุณต้องดูแลคนเหล่านี้ ไม่ใช่เพราะว่าเขาต้องเอาอ้อยที่ดีมาส่ง แต่เป็นจิตสำนึกของคน KTIS ที่เราทำตามเจตนารมณ์ผู้ก่อตั้งที่อยากให้เกิดสิ่งนี้ จะเกิดความมั่นคง”

ความมั่นคงจะเกิดขึ้นได้ต้องอยู่กันไปยาว ไม่ใช่คนใดคนหนึ่งวิ่ง ซึ่งจะเหนื่อย แต่หากเดินไปด้วยกันทีละนิด ทีละนิด ก็จะเดินได้ยาวและมั่นคง

“เรามองว่าในกระบวนการ Sustainability เราทำมาตั้งแต่สมัยเป็นเจตนารมณ์ของคุณปู่ผู้ก่อตั้งแล้ว และเราก็สะท้อนออกมาในกระบวนการทำ CSR มาโดยตลอด โดยที่ตอนนั้น พี่ๆน้องๆ ฝ่ายไร่ก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำเป็นกิจวัตรนั้นคือ CSR in Process”

ดร.สายศิริ ทายาทรุ่นที่ 4 ของกลุ่มธุรกิจน้ำตาลที่ผลิต จำหน่ายน้ำตาลและผลพลอยได้จากน้ำตาล แบบครบวงจร ขยายความต่อเนื่องว่า พนักงานของ KTIS 3,000 คน เข้าใจคอนเซ็ปต์นี้อยู่แล้ว ใส่ใจดูแลคนในชุมชน ผู้เกี่ยวข้องที่ทำงานด้วย โดยปัจจุบันทั้งหมดถูกสื่อสารผ่าน 3C+1

3C+1 KTIS รักษ์โลก โลกน่ายล ชุมชนน่าอยู่

C : Camp หมายถึง ความรับผิดชอบต่อสังคมด้านเด็กและเยาวชน ทั้งที่เป็นลูกหลานพนักงาน และชาวไร่อ้อย ซึ่งจัดแคมป์หลายครั้งเช่น ค่ายเยาวชนต้นกล้า KTIS มีความน่ารักในความเป็นคนไทย กตัญญู สอนให้มีคุณธรรม จริยธรรม รักพ่อรักแม่ แม้ว่าอาจจะไม่ใช่กิจกรรมใหญ่มากนัก แต่เป็นการสร้างจิตสำนึกให้เด็ก โดยมหาวิทยาเจ้าพระยา ซึ่งเป็นธุรกิจครอบครัวเป็นผู้ดำเนินงานเรื่องนี้ แต่ละปี Theme ก็จะแตกต่างกันออกไปตามความสนใจของสังคม เพื่อให้ได้ประโยชน์ทั้งเด็กและชุมชนในพื้นที่ด้วย

“ในปีต่อมาค่ายก็ใหญ่ขึ้นด้วยผู้เข้าร่วมมีวงที่กว้างขึ้น โดยมีเด็กอาเซียนมาร่วมด้วย ถือเป็นการเชื่อมเด็กๆ ด้วยในการเป็นมิตรต่อกันสำหรับอนาคตที่โลกไม่มีพรมแดน ซึ่งหลังจากแคมป์จบไป เด็กๆ ต่างประเทศก็ได้เห็นวัฒนธรรมประเพณีไทย และเขาก็ยังติดต่อกันอยู่ผ่านโลกโซเชียล ความซาบซึ้งที่เกิดขึ้นหลังจากจบค่าย โดยใช้เทียนวนไปรอบๆ เด็กๆ จะพูดถึงความรู้สึกของเขา มิตรภาพที่เกิดขึ้นระหว่างเด็กๆ ก็เป็นสิ่งที่น่ารักมาก”

AEC Camp รวมถึงการดูแลลูกหลานชาวไร่อ้อย รอบโรงงาน

C : Care หมายถึง ความรับผิดชอบต่อสังคมด้านสุขภาพ KTISดำเนินการประจำเช่น จัดกีฬาต่างๆระหว่างกัน ตรวจสุขภาพประจำสำหรับชุมชน รวมถึงพนักงานด้วย หรือแม้กระทั่งการร่วมใช้สนามกีฬากลางของจังหวัด

C : Conserve หมายถึง ความรับผิดชอบต่อสังคมด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งให้ความสำคัญดิน น้ำ ลม ไฟ ในเรื่องดิน เพราะอ้อยเมื่อปลูกแล้วเวลาตัดตัดเป็นตอ หรือเมื่อชาวไร่อ้อยปลูกอ้อยที่จะโตอย่างมีคุณภาพ ดินต้องเเป็นดินดี KTIS มีโครงการ ดินดีอินทรีย์วัตถุ เป็นโครงการต่อยอดของหมู่บ้านอ้อยสด

“หมู่บ้านอ้อยสด ลดไฟไหม้ เกิดเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เรื่องนี้ KTIS ให้ความสำคัญมากเป็นโรงเรียนเกษตรกรชาวไร่อ้อย ให้ความรู้พี่น้องชาวไร่อ้อยที่จะนำมาส่งเรา เช่นการปลูกด้วย 5 ขั้นตอนอย่างไร หาคนที่เก่งเรื่องอ้อย ซึ่งสมัย 10 ปีที่แล้วออสเตรเลียเก่งเรื่องนี้ ก็ไปเชิญมาสอนชาวไร่อ้อยของบริษัท เพื่อให้ชาวไร่อ้อยมีคอนเซ็ปต์และความเข้าใจในการปลูกอ้อย ณ สถานที่แห่งนั้น เพราะดิน น้ำ อากาศแต่ละแห่งแตกต่างกัน จึงต้องเข้าใจในสถานที่ที่พี่น้องชาวไร่อ้อยส่งมา ซึ่งฝ่ายไร่ของบริษัทให้ความสำคัญและทุ่มเทมาก ไปเรียนรู้ อยู่กับชุมชน”

ดร.สายศิริ ขยายความต่อเนื่องว่า ปัจจุบันหมู่บ้านอ้อยสดมี 25 หมู่บ้านที่อยู่ใกล้โรงงาน และคนในหมู่บ้านมีความภูมิใจมากที่ไม่มีการเผา เอาใบที่ตัดออกกลบดินเป็นอินทรีย์บำรุงดิน และแน่นอนมีรายได้มากกว่า อ้อยก็มีค่าความหวานสูง ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีต่อชาวไร่อ้อย โรงงาน รวมถึงชุมชน และสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ หมู่บ้านอ้อยสด ถือเป็นโครงการแรกๆ ในเรื่องรักษ์โลกของ KTIS

+1 หมายถึง Community Relations หรืองานด้านมวลชนสัมพันธ์ ที่สร้างประโยชน์ต่อชุมชนและสังคม เป็นงานประจำ ดูแลวัด โรงงาน หากจะต้องซ่อมแซมก็ทำ โดยพี่น้องพนักงานจิตอาสาที่พร้อมจะช่วยเหลือซ่อมแซมปลูกต้นไม้ ดูแลรักษาแหล่งน้ำ เวลาฝนตกหนักต้นไม้ล้ม โรงงานก็ไปช่วยในทุกๆ กรณี

สำหรับกิจกรรมบางส่วน ที่อยู่ภายใต้ 3C+1 เช่น

1. โครงการ“โรงเรียนลำดวนวัยใส” : การเรียนรู้ที่ไม่มีวันจบของผู้สูงอายุ
หลักสูตรต่อเนื่อง 3 ปี และผู้สูงอายุสามารถกลับมาเรียนปี 1 ใหม่ได้ตลอดเวลา เสมือนเป็นหลักสูตรที่ไม่มีวันจบ

ผู้เข้าร่วมกิจกรรม : ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป
ผลจากโครงการ : เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ เรียนรู้โลกใหม่ ลดช่องว่างระหว่างวัย

2. โครงการ “โรงเรียนต้นแบบเครือข่ายไทยเอกลักษณ์รักษ์สังคม รักษ์ชุมชน รักษ์สิ่งแวดล้อม”
โรงเรียนต้นแบบสอนเยาวชนรุ่นใหม่รักและภูมิใจในอาชีพเกษตรกรรม

ผู้เข้าร่วมกิจกรรม : นักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลประถมศึกษาและมัธยมศึกษา
ผลจากโครงการ : เด็กๆ จะได้ความรู้ด้านเกษตรกรรมที่เชื่อมโยงกับกระบวนการผลิต ทำให้พวกเขาเห็นคุณค่าของอาชีพเกษตรกรรม มีความรักและเกิดความภาคภูมิใจ

“ทั้งหมดนี้อยู่ใต้ร่ม KTIS รักษ์โลก โลกน่ายล ชุมชนน่าอยู่ และในส่วนนี้อยู่ภายใต้นโยบายบริษัท ชาวไร่อ้อยมั่งคั่ง KTIS มั่นคง เป็นการอธิบายถึง More Than Sugar มากกว่าน้ำตาลต้องเป็นเรื่องความยั่งยืน ความใส่ใจต่อสังคม ที่จะวนกลับมาเพื่อความยั่งยืน เป็นสิ่งที่มากกว่าน้ำตาลจริงๆ ซึ่งยังคงจะรักษาเดินหน้าต่อยอดเรื่องนี้ต่อไป”

ดร.สายศิริกล่าวในท้ายที่สุด ถึงการเดินหน้า KTIS รักษ์โลก  สำหรับคนทำงานในองค์กรมีกระบวนการทำงานที่เข้าใจและรับลูกกันอย่างต่อเนื่อง เพราะอาจจะเรียกว่าเป็นวิถีไปแล้ว ส่วนชุมชนชาวไร่อ้อยของ KTIS ก็มีวิถีไม่แตกต่างกันนัก  เพื่อโลกน่ายล ชุมชนน่าอยู่

 

You Might Also Like