26 กุมภาพันธ์ 2562…ที่กล่าวข้างต้น เป็นข้อสรุปในเส้นทางเยี่ยม EEC สนามบินอู่ตะเภา ต่อด้วยนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด สู่ประวัติศาสตร์จันทบุรี อ่าวคุ้งกระเบน ชุมชนริมน้ำจันทบูร ปิดท้ายด้วยศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง ชลบุรี รวมทุกเส้นทางตอบโจทย์ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม
ความสำคัญของ EEC ต่อตลาดทุน
ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวถึงโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) หลังจากผ่านสนามบินอู่ตะเภา ต่อด้วยนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ปัจจุบันมีความคืบหน้ามาก นับเป็นการพัฒนาที่มีศักยภาพในการต่อยอดเศรษฐกิจ รวมถึงตลาดทุนในอนาคต โดยบริษัทที่ทำธุรกิจอยู่แล้วในพื้นที่นี้ ก็จะได้ใช้โครงสร้างพื้นฐานของอีอีซีได้มากขึ้น ไม่ว่าจะป็นเรื่องการขนส่งทางอากาศ ทางเรือ ทางบกโดยการสร้างรถไฟฟ้าเชื่อมสนามบิน
ส่วนบริษัทใหม่ๆ รวมถึงสตาร์ทอัพทั้งหลาย สามารถใช้โครงสร้างพื้นฐานที่รัฐทำไว้แล้วเกิดประโยชน์ได้มากที่สุดเช่นกัน โดยไม่ต้องนับที่ขั้น 1 ใหม่ในหลายๆ เรื่องๆ เพราะสามารถกระโดดไปสู่ขั้นที่ 3 4 5ได้ทันทีในการต่อยอด ซึ่งในที่นี้รวมถึงการต่อยอดสนับสนุนไปยังธุรกิจต่างๆ รวมถึงกลุ่มประเทศ CLMV
ปัจจุบัน โครงการอีอีซี มีความคืบหน้า ทำให้เห็นศักยภาพการต่อยอด และพัฒนาตลาดทุนในอนาคต โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือ ส่วนแรกบริษัทที่ดำเนินธุรกิจในแถบอีอีซีอยู่แล้ว จะสามารถใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานได้มากขึ้น ขณะที่ภาคธุรกิจที่จะได้รับผลประโยชน์โดยตรง อาทิ ด้านลอจิสติกส์ที่เชื่อมโยงการขนส่งทางอากาศ ทางน้ำ และทางบก ที่กำลังดำเนินการก่อสร้างรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน ฯลฯ
ส่วนที่สอง อุตสาหกรรมใหม่ที่จะได้รับประโยชน์ในอนาคต จากการที่ภาครัฐมีความพยายามทำให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นจุดในการสร้างธุรกิจใหม่ๆ จากโครงสร้างพื้นฐานที่ดีอยู่แล้ว จึงสามารถต่อยอดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนภาคธุรกิจต่างๆ ทั้งในไทย กลุ่มประเทศ CLMV และในภูมิภาคอาเซียน มั่นใจภาคเอกชนจะระดมทุนเพิ่มขึ้นในตลท. ทั้งในส่วนของอุตสาหกรรมเก่า-ใหม่
“ตลาดหลักทรัพย์ยังสนใจที่จะเข้าใช้พื้นที่ EEC ในการดำเนินธุรกิจใหม่ของตลาดฯ เช่น ฟรีเทรดโซน สถานที่ซื้อขายส่งมอบทอง สินค้า ยาง ข้าว มันสำปะหลัง ซึ่งจะกลับไปศึกษา ความต้องการต่างๆ และความเป็นไปได้ของโครงการ”
ความสำคัญสังคม สิ่งแวดล้อม EEC ต่อตลาดทุน
จากพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม ปัจจุบัน “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน” อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในหลวงรัชกาลที 9 ได้ให้ประโยชน์มากมายอาทิ
1. เป็นศูนย์กลางในการอบรมและเผยแพร่การศึกษาด้านการจัดการทรัพยากรชายฝั่งแก่ส่วนราชการและประชาชนทั่วไปและเป็นหน่วยสาธิตการเลี้ยงสัตว์น้ำ การทำฟาร์มทะเล
2. ยกระดับฐานะความเป็นอยู่ ลดต้นทุนการผลิตในอาชีพด้านการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการนำความรู้ที่ได้จากศูนย์ฯ มาประยุกต์ใช้กับการประกอบอาชีพ
3. ทำให้การปฏิบัติงานของศูนย์ฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามแผนงาน/โครงการ นอกจากนี้ศูนย์ฯ ยังมีศักยภาพ โดยเป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์จนเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นที่รู้จักมากขึ้น
แหล่งท่องเที่ยวต่อด้วย “ชุมชนริมน้ำจันทบรู” ชุมชนเก่าแก่ริมแม่น้ำจันทบุรีด้านตะวันตก เดิมเรียก “บ้านลุ่ม” เป็นชุมชน เก่าแก่ของชาวจีนและญวนอพยพตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ต่อมาได้พัฒนามาเป็น ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการค้าของ จันทบุรีที่สำคัญแห่งหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ 5
จนกระทั่งมาถึง “ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง ชลบุรี” ที่นี่ได้อธิบายเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง”กับการอยู่ในโลกปัจจุบัน จนสามารถเป็น Lifestlye Sustainability ส่งเสริมการผลิตอาหารไร้สารพิษ ปราศจากสารเคมี สำหรับมวลมนุษย์ชาติ รวมถึงการขายสินค้า สนับสนุน ฝึกอบรม ศึกษา ค้นคว้า วิจัย พัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อการกสิกรรม การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การปศุสัตว์ การพลังงาน การแพทย์เภสัชกรรม และการจัดการสิ่งแวดล้อม โดยเน้นภูมิปัญญาตะวันออก
“ที่มาดูที่นี่และเห็นคอนเซ็ปต์หลักการสมัยใหม่ น่าสนใจมาก สิ่งที่แรกที่พูดถึงคือ Ecosystem สภาพแวดล้อมพื้นดิน พื้นน้ำที่จะนำมาใช้ในการเกษตรเป็นอย่างไรบ้าง เมื่อฟังแล้วจะเห็นว่า สอดคล้องกับการทำธุรกิจเลย เรามีสิ่งแวดล้อมอะไรบ้าง คู่แข่งเราคือใคร เราสามารถมีจุดแข็ง จุดอ่อน เรามีต้นทุนที่ถูกตรงไหน เรามีทรัพยากรตรงไหน วิธีคิดเหมือนกันเลย หลังจากนั้นเราค่อยมาคิดต่อว่าเราจะใช้ Resource ทรัพยากรดังกล่าวให้ได้ดีได้อย่างไร มีการวางแผนใช้ความร่วมมือมือแบบ Partnership Model”
ดร.ภากรกล่าวต่อว่า ปัจจุบันไม่ว่าจะทำธุรกิจ หรือการเกษตร แนวคิดเหมือนกัน ต้องนำเรื่องสังคม สิ่งแวดล้อม การดูแลมาประกอบกัน เพราะฉะนั้นในอนาคตอยากจะเรียนว่า ไม่ว่าท่านจะเป็นเกษตรกร หรือทำธุรกิจ ผลิต การเงิน ทุกอย่างวิธีคิดไปในทางเดียวกันที่จะต้องคิดถึงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อเป้าหมาย “ความยั่งยืน” ให้กับทุกๆ Stakeholder
ความสำคัญ “ความยั่งยืน” ต่อบริษัท
“การทำธุรกิจแล้วหวังผลเฉพาะกำไรระยะสั้น นักลงทุนมองว่าไม่ยั่งยืน เพราะฉะนั้นสิ่งที่นักลงทุนจะถามคือ ทำอย่างไรเขาจะเชื่อได้ว่า บริษัทดังกล่าวมีความสามารถทำกำไรได้อย่างยั่งยืน”
ดร.ภากรขยายความต่อว่า หนึ่งในปัจจัยหลักบริษัทจะต้องคิดถึงเรื่องสังคม สิ่งแวดล้อม การดูแลที่ดี ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการทำงานต่างๆ จะเห็นได้ว่าบริษัทไทยเมื่อคำนึงถึงเรื่องนี้จะได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลกมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นบริษัทไทยที่อยู่ใน DJSI ,Thailand Sustainability Index จะได้รับความสนใจจากนักลงทุนสถาบันค่อนข้างมาก นักลงทุนมีความต้องการชัดเจนเลย ดังนั้นสิ่งสำคัญที่บจ.จะต้องคิดคือ
1.คุณต้องมีข้อมูลการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Sustainability Report เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะต้นเดือนได้มีโอกาสพบนักลงทุนสถาบันที่ใหญ่ที่สุดในโลก เขาบอกว่าถ้าไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับ Sustainability Report จะถือว่าไม่ได้อยู่ในลิสต์ที่เขาลงทุนได้
2.การจะให้ข้อมูลเหล่านี้ บจ.จะต้องเตรียมข้อมูลเรื่องนี้ ซึ่งข้อมูลต้องเป็น Machine Readable ด้วย เพราะบางทีเขาใช้ AI วิเคราะห์
“ตรงนี้อยากจะเรียนท่านผู้บริหารบจ. ว่า การมีข้อมูลที่อ่านได้ด้วยเครื่อง การมีข้อมูลที่ชี้แจงชัดเจนว่าทำอะไร เป็นเรื่องที่สำคัญมากในอนาคต หากท่านต้องการนักลงทุนสถาบัน ไม่ว่าจะเป็นในประเทศหรือต่างประเทศให้เข้ามามีความสนใจในบริษัทของท่าน ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ สนับสนุน ในปีนี้เราเตรียมเทมเพลต การรายงาน ข้อมูลให้สะดวกขึ้นให้เป็น Machine Readable เพราะโจทย์เปลี่ยนไปขนาดนี้ ต่อให้บริษัทเราทำเรื่อง Sustainability Report ดีแค่ไหน แต่ถ้าเครื่องอ่านไม่ได้ MSCI,DJSI บลูมเบอร์ก ก็อ่านไม่ได้ กลายเป็นว่าไม่มีประโยชน์เลยในการทำเรื่องเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม”
ความสำคัญ “ตลท.” ต่อการขยายมาตรฐานความยั่งยืน
ตามที่ดร.ภากรได้กล่าวข้างต้นเรื่องการทำข้อมูลให้เครื่องอ่านได้นั้น เพราะนักลงทุนจะเห็นข้อมูลความยั่งยืน ที่ได้ทำลงไปของบจ.จากสิ่งที่เครื่องอ่านได้ และจะเกี่ยวโยงกับการรับรองมาตรฐานต่างๆ ซึ่งหากแต่ละบจ.ทำเองจะเป็นการลงทุนสูงมากเกินไป
“ผมมองว่า เป็นไปได้ไหม ที่เราจะเซ็ทอัพเหมือนเป็นเซ็นเตอร์ เพื่อทำเกี่ยวกับเรื่อง Verify Credit ต่างๆ เช่นให้กับเรื่อง Green Bond หรือคาร์บอนเครดิต ที่ทำกับบจ. และบจ.สามารถนำของเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ได้ ไปออกบอนด์ได้ง่ายขึ้น ออกบอนด์ได้ถูกลง เรื่องนี้คือขั้นต่อไปที่คิดว่าตลาดหลักทรัพย์น่าจะทำ เหมือนกับว่าเราต้องไปร่วมกับใครสักคนที่เก่งเรื่องนี้ เพราะเราไม่ได้เก่งเรื่องนี้ เหมือนกับตอนที่เราทำ IOD หรือ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย เราไม่ได้ทำเอง ต้องไปร่วมกับออสเตรีเลียทำเรื่องนี้ เคสนี้เหมือนกัน มีใครบ้างไหมที่สนใจมาทำธุรกิจในเมืองไทย ในภูมิภาค ที่จะทำให้บริษัทเหล่าแอดเครดิตได้ง่ายขึ้น ถูกขึ้น และเราได้ประโยชน์จากตรงนี้ ผมว่าเราน่าจะทำ”
ความสำคัญที่จะต้องขยายมาตรฐานความยั่งยืนเพิ่มขึ้น เพราะในอดีตหลังจากที่ตลท.ได้ทำขึ้นมาแล้ว ผลออกมาคือบจ.ในประเทศไทยขึ้นมาเป็นอันดับ 5 ในเอเชีย และเป็นอันดับ 1 เรื่อง CG ในอาเซียน บจ.ไทยเป็น Gold โClass International Standard ใน DJSI
ดร.ภากรย้ำท้ายที่สุดว่า ข้อมูลเหล่านี้ คือสิ่งที่ดีมาก นักลงทุนทั่วโลกประทับใจข้อมูล เห็นว่าบจ.ไทยมีคุณภาพ เพิ่มความสามารถนอกเหนือจากการทำกำไร
เนื้อหาเกี่ยวข้อง
- Sustainability Trends 2019 ยกระดับการประเมินความยั่งยืน บจ.ไทย
- เพื่อแบรนด์ท่านเอง จำเป็นกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืนในฐานะบจ.ไทย