TALK

ระเฑียร ศรีมงคล “การพัฒนาคน ต้องเข้าใจ จะต้องเป็นคน Proactive เป็นคนที่นึกถึงสังคม”

4 มิถุนายน 2562…การที่จะรับใครสักคนมาอยู่ในองค์กร ฐานะทางเพศ หรือเรียนเก่งมาก เก่งน้อยไม่เกี่ยว สิ่งสำคัญที่สุดคือ จะต้องดูว่าดีเอ็นเอของเขาเป็นอย่างไร มีดีเอ็นเอเดียวกันไหม ต้องพัฒนาให้เป็นคนแบบเคทีซี

ระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือเคทีซี ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ SD Perspectives ในการพัฒนาและบริหารทรัพยากรมนุษย์ เพื่อการเติบโตขององค์กรต่อธุรกิจ ต่อสังคม และเพื่อการเติบโตของพนักงานทุกระดับในองค์กรพร้อมๆ กัน ในยุคที่ต้องขับเคลื่อนด้วย Sustainability

 คนเคทีซี

เมื่อพูดถึงเรื่องคนในองค์กร ระเฑียรเริ่มต้นอธิบายสิ่งสำคัญขององค์กรคือดีเอ็นเอ เคทีซี ซึ่งมีอยู่ 3 หลักประกอบด้วย

1. มีความกล้า กล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง หมายความว่าเมื่อเห็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ต้องกล้าที่จะพูด ในการประชุมต้องมีการเตรียมตัวอะไรที่ไม่ถูกต้องต้องกล้าแย้ง การทำงานแบบดั้งเดิมที่เคยทำแบบทั่วไปที่เคยเกรงใจว่า เมื่อเราไปวิจารณ์เรื่องคนอื่นแล้ว คนอื่นจะมาวิจารณ์เรื่องเรานั้น เป็นความคิดที่ผิด….
2. มีลักษณะที่เป็น Smart Simplicity ทำอะไรต้องไม่ซับซ้อนเกินไป แต่อย่างชาญฉลาด
3. มีความหมาย ไม่ว่าจะทำอะไรต้องมีความหมายต่อองค์กร ต่อผู้มีส่วนได้เสีย รวมถึงสังคมด้วย
“เรื่องดีเอ็นเออยู่ในวัฒนธรรมองค์กรของเรา และเป็นส่วนหนึ่งมาโดยตลอด โดยเราหยิบประเด็นขึ้นมาพูดให้ชัดเจนมากขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และเราพยายามผลักดันสิ่งนี้ออกมาให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ให้คนทำมากขึ้น ซึ่งมีหลายครั้งที่เรายกเหตุการณ์ต่างๆ มาเพื่อให้เห็นจุดอ่อนของเราว่า ได้เกิดจากการที่เราไม่กล้าพอที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้อง”

ระเฑียร ยกตัวอย่างต่อเนื่อง การทำงานรูปแบบปกติของคนที่ร่วมมือกัน ในงานที่ 2-3 แผนกต้องช่วยกันทำงาน ทั้งๆ ที่รู้ว่า งานของอีกแผนกหนึ่งหากทำเช่นนี้ออกไป จะมีปัญหา แต่ก็ไม่พยายามที่จะเสนอแนะแนวทางที่ควรจะเป็นเพื่อไม่เกิดปัญหา หรือลดการเกิดปัญหา แต่คนที่ร่วมทีมทำงานก็ไม่ทำ ด้วยเหตุผล “เพราะว่ามันไม่ใช่งานของเรา” ซึ่งจะมีผลกระทบกลับมาที่งานตัวเองในที่สุด

“คนที่บอกว่าไม่ได้ครับเราต้องเกรงใจเขานะครับ เป็นพื้นที่ของเขา เราควรจะปล่อยให้เขาทำ แล้วถ้าเขาไม่ถูกต้องล่ะ เขาต้องรู้เองครับ อย่างนี้ไม่ใช่ลักษณะคนในองค์กรเรา ถ้าสิ่งที่เห็นแย้ง จะเป็นประโยชน์แก่องค์กร ต้องพูด ต้องเห็นความสำคัญขององค์กรเป็นที่หนึ่ง ต้องกล้าพูดว่า เอ! พี่ ทำไมไม่ลองทำแบบนี้ดู แต่ขณะเดียวกันก็ต้องเปิดใจบอกว่า น้องมันมีปัจจัยอื่น เราถึงทำแบบนี้ ลักษณะเหล่านี้เป็นดีเอ็นเอ เป็นเรื่องสำคัญ Proactive เป็นส่วนหนึ่งของความกล้า ”

ระฑียรแสดงมุมมองต่อเนื่อง ถึงการให้ได้มาคนที่มีดีเอ็นเอแบบเคทีซี เป็นเรื่องไม่ง่าย แต่เมื่อเวลาคุยไปก็พอจะรู้ว่าดีเอ็นเออยู่ระดับใด แต่ต้องยอมรับว่าในโลกมีทั้งคนที่พูดเก่ง และพูดไม่เก่ง เพราะฉะนั้นช่วงสัมภาษณ์บางทีคัดคนไม่ได้ จนกระทั่งเมื่อเข้ามาทำงานก็จะเห็นวิธีการชัดเจนว่าการทำงานเป็นอย่างไร หรือทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ หรือเกิดปัญหา ความสำเร็จไม่เคยบอกได้ว่าคนไหนเก่ง แต่ปัญหาและความล้มเหลวที่เกิดขึ้น สามารถบอกได้ว่าคนไหนเป็นคนเก่ง

วัฒนธรรมองค์กรที่เรามี เป็นจริงทุกยุคสมัย วัฒนธรรมองค์กรที่ใดจะประสบความสำเร็จได้โดยที่คนไม่กล้าทำสิ่งที่ถูกต้อง หรือทำอะไรที่ซับซ้อนออกมาแล้วไม่รู้เรื่อง ดังนั้นต้องทำอะไรที่ง่ายอย่างชาญฉลาด และเป็นประโยชน์ต่อองค์กร และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพราะเป็นพื้นฐาน

“ผมคิดว่าเรื่องงานเป็นทั้งศาสตร์ และศิลป์ เราเลือกคน เราไม่สามารถใช้เวลาสั้นๆ ในการคัดคนได้ ดังนั้นสิ่งที่เราคัดได้ดีที่สุดเราต้องดูดีเอ็นเอ ถ้าคนคนนี้มีดีเอ็นเอชัดเจนในการทำสิ่งที่ถูกต้อง ตั้งใจ แล้วดูแล้วว่าเป็นคนลักษณะ Proactive เราเลือกคนเหล่านี้ เวลาคิด เราพูดเรื่องยากๆ แล้วเขาพยายามสรุป ให้เห็นใจความสั้นๆ สรุปใจความได้ และมองว่าอะไรเป็นประโยชน์ทั้ง 2 ฝั่ง ลักษณะนี้เราบอกว่าคนแบบนี้อยู่ในองค์กรเรา พัฒนาได้”

เคทีซี มีพนักงานรวมๆประมาณ 1,800 คน โดยเป็นพนักงานประจำ ราวๆ 1,500 คน ยังไม่นับพนักงานชั่วคราว และเอาท์ซอร์ส ซึ่งทั้งหมดจะต้องมีดีเอ็นเอของเคทีซีในการทำงาน และที่ผ่านมาช่วยให้ Productivity เคทีซีสูงขึ้นมาก เนื่องจาก 7-8 ปีที่ผ่าน องค์กรไม่ได้เพิ่มคน แต่กำไรและ Asset เพิ่มขึ้นหลายเท่า

ระเฑียรย้ำว่า วันนี้ อายุไม่ใช่ประเด็น เพราะว่าการที่จะทำงานได้ดี ก็ต้องการประสบการณ์การทำงานระดับหนึ่งเหมือนกัน วัฒนธรรมเดียวกัน หรือดีเอ็นเอเดียวกันเป็น Core เป็นจุดเริ่มต้นแต่การสั่งสมประสบการณ์ เพื่อจะมาปฎิบัติอาศัยระยะเวลาเหมือนกัน

 สังคมเคทีซี

การที่องค์กรไม่ได้เพิ่มคน แต่กำไรและ Asset เพิ่มขึ้นหลายเท่าในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมานั้น นับเป็นบทพิสูจน์หนึ่งที่เกิดขึ้นใน “สังคม” เคทีซี

“คนเราใช้เวลากว่าครึ่งหนึ่งของชีวิตในที่ทำงาน เพราะฉะนั้นผมคิดว่าเป็นหน้าที่ฝ่ายจัดการที่จะต้องดูแลชีวิตคนของเราด้วย ซึ่งในองค์กรหนึ่งก็เหมือนสังคมสังคมหนึ่ง ในมิติคนที่รู้จักกันมากขึ้นต้องคุยกันมากขึ้น สังคมคนเราไม่ได้อยู่ในหน่วยงานเฉพาะที่ทำงานเดียวกัน มันครอบคลุมถึงคนทั้งบริษัท การที่มีชมรมต่างๆ ทำให้คนหน่วยงานหนึ่งมาทำความรู้จักกับคนอีกหน่วยงานหนึ่งได้ เพราะฉะนั้นกิจกรรมต่างๆ เป็นกิจกรรมให้คนต่างๆ รู้จักกัน”

สังคมในองค์กรเคทีซี เป็นไปตามหลักการคุณภาพชีวิตที่ดี มีสมองที่ดีและมีอายุยืนมี 4 องค์ประกอบคือ

1. ทานอาหารที่ดี คือต้องถูกต้องตามหลักโภชนาการ
2. เคลื่อนไหว ขยับ ออกกำลังกายให้มากขึ้น
3. มีความเครียดที่น้อยลง การเล่นโยคะ หรือปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องหนึ่งที่ลดเรื่องนี้ลง
4. มีสังคมที่ดี ในรีเสิร์ชของฮาร์เวิด ที่จะมีรายงานต่อๆ กันมาทำกันมา 70 ปี พบว่าคนที่มีความสุขในชีวิตคือคนที่มีสังคมที่ดี ไม่ใช่คนที่เรียนเก่งหรือรวย

นอกจากนี้ เรื่องการเทรนนิ่ง จัดเป็นส่วนหนึ่งของสังคมองค์กรเคทีซี ซึ่งบริษัทให้ความสำคัญมาก ลงทุนเรื่องนี้ไม่น้อยเลยทั้ง Hard Skill และ Soft Skill ทำให้เป็นรูปธรรม และจะมอนิเตอร์ความก้าวหน้า  ส่วน Soft Skill ถ้าเป็นผู้ใหญ่จะเป็นเรื่อง Leadership เรื่องความเข้าใจ Thinking Process หรือ Design Thinking ระเฑียร ยกตัวอย่างเรื่องนี้ว่า

“เราบอกว่า ผู้บริหารทุกคนต้องมี Open Minded คือเปิดใจรับฟัง แต่ขณะเดียวกันต้องกล้าที่จะตัดสินใจ เพราะนี่ดูเหมือนเป็นเรื่องขัดแย้งกัน หากคุณไม่ฟังใครเลยแล้วตัดสินใจเปรี้ยง ไม่ได้ แต่หากคุณเปิดรับฟังไปหมดแล้วไม่ตัดสินใจ ก็ไม่ได้ มันเป็น Combination 2 อย่างแรกสุด ต้องเปิดใจรับฟังคนทุกคน แล้วเมื่อรับฟังแล้วได้ข้อมูลจำนวนหนึ่งซึ่งเชื่อได้ว่ามากพอแล้วต้องตัดสินใจ เพราะว่าเมื่อคุณเป็นผู้นำ คุณต้องตัดสินใจ ในการเปิดใจรับฟังมี Skill ที่ต้องฝึก เช่น ไม่ใช่คนทุกคนมีน้ำหนักมากพอ มากเท่ากัน คนที่ได้รับความเชื่อถือ ควรจะได้รับน้ำหนักมากกว่าคนทั่วๆ ไป การจะดูว่าคนไหนเป็นคนที่น่าเชื่อถือ ต้องมีหลักเกณฑ์ ซึ่งผมว่าเรื่องแบบนี้ไม่มีการสอนกันในห้องเรียน เป็นสิ่งที่เราต้องโค้ชคน อันนี้ต้องขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง”

อย่างไรก็ตาม การเปิดใจรับฟังนั้น ไม่ได้มีเพียงเรื่องงานเท่านั้น หากรวมถึงเรื่องเพศสภาพของพนักงาน ที่ระเฑียรยืนยันว่า ไม่เคยแบ่งพนักงานด้วยเรื่องเพศ เพราะเคทีซีมีคนทุก Type อยู่ที่นี่ และเป็นเรื่องปกติด้วย

“ผมคิดว่าที่นี่เราให้คุณค่าความเป็นมนุษย์ ส่วนมนุษย์จะมีจิตใจหรือเพศในทางกายภาพนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะเวลาพูดเรื่องเพศ เราพูดถึงด้านกายภาพ ยังมีด้านจิตใจอีก เพราะฉะนั้น เราให้คุณค่าความเป็นมนุษย์มากกว่า ตราบใดที่คิดว่าทุกคนเป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ก็ไม่ควรรังเกียจคนอื่น หรือเรื่องความสวยไม่สวย ถือเป็นเรื่องกายภาพ เราให้ความสำคัญด้านจิตใจ ผมว่าเราเป็นองค์กรที่เปิดมากๆ เรื่องนี้เป็นเรื่องหนึ่งที่ไม่เคยเป็น Issue ของที่นี่ และผมคิดว่าคนที่มี Issue ในเรื่องนี้ก็ไม่เหมาะในองค์กรของเราชัดเจน”

ผมทำตามคำสอนพระพุทธเจ้าว่า ทำวันนี้ให้ดี ภายในเทอมผม อะไรที่พึงกระทำ ผมไม่เคยรอ ผมทำเลย จึงมั่นใจว่าอะไรที่ควรจะทำ ได้ทำหมดทุกอย่าง ภายใต้ข้อจำกัดทรัพยากรที่ผมมี ซึ่งทุกอย่างมักมีข้อจำกัด… คลิกรูป ชมคลิปการพัฒนาคนยุค Sustainability ใน YouTube ช่อง SD Perspectives

มาถึงบรรทัดนี้ จะเห็นการวางฐานแข็งแรง เรื่องการพัฒนาและบริหารคนของระเฑียรที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องก่อนที่จะครบเทอมการทำงานเดือนพฤศจิกายน 2562 ถือเป็นหัวใจในการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์กร ใน 3 หัวข้อ คือ

  • Environmental เรื่องของสิ่งแวดล้อม
  • Social ความรับผิดชอบต่อสังคม
  • Good Governance
หัวใจสำคัญที่สุดของ ESG คือ การทำให้ “คน” มีความเข้าใจ แล้วนำความรู้ หรือเอาสิ่งที่รู้มาอิงในเรื่อง ESG นี้ได้อย่างไร “การพัฒนาคน” จึงจำเป็นต้องพัฒนาให้มีความเข้าใจ และจะต้องเป็นคนที่ Proactive เป็นคนที่นึกถึงสังคม “รับผิดชอบต่อสังคม” อันจะนำไปสู่ “ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม” ภายใต้ Good Governance ที่ดี

ระเฑียร สรุปทิ้งท้ายถึงบุคลิกคนเคทีซี ไปที่ไหนจะมีลักษณะดีเอ็นเอขององค์กรคือ เป็นตัวของตัวเองสูง กล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง พยายามทำสิ่งที่ซับซ้อนให้เป็นเรื่องเข้าใจง่ายๆ และเมื่อทำแล้วเป็นประโยชน์ขององค์กรและประเทศ มองส่วนรวม ไม่ได้อยู่ในรูปแบบมากนัก แต่อยู่ในจิตวิญญาณ คนเคทีซีเน้น Function มากกว่าฟอร์ม เมื่อคุยกับเขาแล้วเห็นความแตกต่าง

 

You Might Also Like