TALK

มะรุมมะตุ้มรักชุมชนบางกะเจ้ากะทันหัน โอกาสของ Social Collaboration

17 ตุลาคม 2561… ใน Workshop เวที SB’18 BKK เรื่อง Social Enterprises and Ways to Design Themselves  ถือเป็นโอกาส “เปิดใจ” หลายเรื่อง เพื่อเป้าหมาย “รักษาอัตลักษณ์บางกะเจ้า” และการมุ่ง SE

ส่วนหนึ่งของบรรยากาศ ที่นพเก้า สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯแห่งประเทศไทย ทรงพล ชัญมาตรกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีวี ไดเรค จำกัด (มหาชน) และสกุลทิพย์ กีรติพันธวงศ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง และกรรมการผู้จัดการ วิสาหกิจเพื่อสังคม ไนส์คอร์ป และเป็นหน่วยงานสำคัญในการก่อตั้งและขับเคลื่อนมาตรฐาน BCORP ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้นำชุมชนหลายส่วน เมื่อ 13 ตุลาคมที่ผ่านมา

ทรงพลเสนอมุมมองว่า คนบางกะเจ้าต้องเก่งก่อน ไม่มีใครเก่งกว่าทุกท่านที่เป็นคนบางกะเจ้า ต่อให้บริษัทใหญ่ๆ เข้ามาทำงานในพื้นที่ก็ไม่มีใครเก่งกว่าท่านไปได้ เพราะท่านสามารถยึดให้เป็นความยั่งยืนได้ เมื่อท่านคิดว่าท่านเก่ง แล้วไปหาคนเก่ง เช่นที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีหลายวิธีการที่จะช่วย บางกะเจ้าต้องดูว่าอยากได้ยังไง จะเก่งตรงไหน ใช้โอกาสที่ทุกคนกำลังมามะรุมมะตุ้มรักท่านกะทันหัน หาประโยชน์จากพวกเขาว่าจะต้องทำยังไง ที่นี่มี 12,000 ไร่ 11,000 ครอบครัว 37,000 กว่าคน น่าจะรวมกันได้ แชร์เบเนฟิตได้ เพื่อให้บางกะเจ้าเป็นบางกะเจ้า ท่องเที่ยว หรือวิถีสวนไร่นา หรืออะไรที่ตกลงกัน ต้องตกลงกันให้แม่นๆ

สุกิจ พลับจ่าง, วิรัตน์ พงษ์สวัสดิ์ นำทีมชุมชนเล่าถึงมุมมองสิ่งที่เปลี่ยนไป สิ่งที่รักษา สิ่งที่เป็นห่วงของบางกะเจ้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ หิ่งห้อย พืชพันธุ์ต่างๆ อยากให้อนุรักษ์ไว้แม้จะมีอะไรใหม่ๆ เข้ามาในชุมชนก็ตาม ซึ่งการมีอะไรใหม่ๆ เข้ามาในชุมชนนี้ ส่วนหนึ่งหมายถึงภูมิทัศน์เปลี่ยนไป ผิดธรรมชาติของที่นี่ เพราะคนที่นี่คือคน “น้ำ” ธรรมชาติที่นี่เป็นร่องสวน สีเขียวที่เห็นมากมาย คือต้นผลไม้ ไม่ใช่ป่าไม้ !

ในเรื่องการศึกษา และการเกษตร ผู้นำชุมชนด้านนี้เห็นว่า ต้องทำให้เด็กของบางกะเจ้า รู้จักพื้นที่ของเรา ทรัพยากรของเรา ซึ่งระบบการศึกษาปัจจุบันไม่ได้เติมตรงนี้ ทำให้เด็กๆ ใช้วิตตรงนี้ไม่ได้ และเมื่อเทียบรายได้จากการเป็นเกษตรกร เทียบไม่ได้กับการเป็นลูกจ้างบริษัทต่างๆ ยิ่งเข้ามาสู่ยุคปัจจุบัน บุ๋มวัย 20 ปี คนบางกะเจ้าผู้แทนเยาวชน มีความคิดว่า รุ่นหนูอยากให้พัฒนาด้วยกันคือ รักษาด้วยและให้เติบโตด้วย ทำให้ผู้ใหญ่มีรายได้เหมือนกัน

“บุ๋มอยากรู้ช่องที่จะมาจูนกันได้ระหว่างคน 2 วัย ซึ่งคนรุ่นเดียวกันกับหนู จะสนใจอยู่กับเทคโนโลยี ไม่ได้กลับมาแบบนี้ ซึ่งคิดว่าหากมีกิจกรรมด้านธรรมชาติให้มากขึ้น เป็นการปลูกฝังว่า ที่บ้านเรามีธรรมชาติ จะช่วยให้เราเข้าใจพื้นที่รักธรรมชาติมากขึ้น”

“ผมเกิดที่นี่ อายุ 58 ปี ครอบครัวอยู่ที่นี่ตลอดผมเป็นรุ่นที่ 4 เป็นอาจารย์ที่พระจอมเกล้าธนบุรี การแก้ปัญหาบางกะเจ้า ต้องใช้หลายคำตอบแน่นอน เมื่อกี้เราคุยปัญหาภายในเยอะ การสร้างเขื่อนกั้นบางกะเจ้าใช่ว่าจะเป็นข้อดีอย่างเดียว เพราะทำให้น้ำขึ้นน้ำลงเปลี่ยน กระแสน้ำเปลี่ยน การสะสมดินตะกอน ระบบนิเวศน์เปลี่ยนแปลงหมดเลย เพราะว่าความหวังดีจากคนข้างนอก หรือที่เรียกว่ารักกะทันหัน ขาดความเข้าใจ เมื่อระบบนิเวศน์เปลี่ยน แหล่งเพาะพันธุ์ปลาก็เปลี่ยน ปัจจัยภายนอกอีกเรื่อง ฝั่งพระประแดงได้รับผลกระทบจากโรงงานเยอะมาก น้ำเสีย ฝุ่นเยอะ คนบางกะเจ้าเขารักสวน รักต้นไม้ รักน้ำของเขา แต่อุตสาหกรรมภายนอกทำให้ต้นไม้ตาย ไม่ใช่เราทำให้ตาย ส่วนทำลายป่าที่อื่นๆ ส่งผลให้น้ำทะเลหนุนขึ้นเรื่อยๆ อ้อมไปถึงสะพานพุทธ ถึงบางขุนนท์ ในอดีตไม่เคย เพราะการไหลของน้ำเปลี่ยนไป อันนี้เป็นปัจจัยภายนอกที่กระทบถึงคนบางกะเจ้าโดยตรง”

อาจารย์ย้ำว่า ประเด็นที่คุยกัน น่าจะมองจากปัจจัยข้างนอก และปัจจัยข้างใน ผลกระทบที่เป็นปัจจัยแรงกดดันและการเปลี่ยนแปลงจากข้างนอกเยอะมาก และชุมชนบางกะเจ้าแก้ไขไม่ได้เพราะได้รับผลกระทบจากข้างนอก

“บางกะเจ้า ขาดผู้นำ หรือ Leadership อย่างเป็นนัยยะสำคัญ ปัจจุบันที่มีคือการเป็นผู้นำตามธรรมชาติมาก เมื่อโมเมนต์นี้รอกันไม่ได้ เราก็ต้องลุยไปก่อน เพียงแต่ว่าผู้นำแต่ละจุดต้องคุยกันเยอะขึ้น ประสานงานเยอะขึ้น และเมื่อถึงจุดใดจุดหนึ่ง ที่สถานการณ์ลงตัวพอดี ปัจจัยมา ทุกอย่างมา ผู้นำหรือ Leadership จะเกิดเสมอ แล้วเดี๋ยวท่านจะรู้เองว่า ผู้นำของท่านคือใคร ผมโยนโจทย์นี้ให้ทุกท่าน และเมื่อมีแล้ว ยอมรับ และเดินหน้า หวังว่าในที่นี้ ต้องมีสักคน”

ทรงพลกล่าวในท้ายที่สุดก่อนหมดเวลาว่า…ขอเป็นกำลังใจให้

เรื่องเกี่ยวข้อง

You Might Also Like