TALK

ชาญศิลป์ ตรีนุชกร “อยากให้บางกะเจ้าเป็นแลนด์มาร์คเมืองไทย มีเสน่ห์ให้ชาวโลก”

15 ตุลาคม 2561…ในฐานะบริษัทพลังงานแห่งชาติที่ดำเนินงานมา 40 ปี กลุ่มปตท. มุ่งเน้นแนวทางการบริหารจัดการความยั่งยืนกลุ่ม ตามหลัก 3P โดยให้ความสำคัญ 3 ด้านอย่างสมดุล People, Planet , Profit

ในส่วน People คือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ชุมชน Profit การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยใช้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) เป็นตัวกำหนดทิศทางเพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาระดับสากลและ Planet การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และสังคม

โดย Planet นั้น กลุ่ม ปตท. ถือเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต่างๆ ตั้งแต่ยังไม่เกิดกระแสสังคมด้านสิ่งแวดล้อมด้วยซ้ำ และมีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่องจนมาถึงปัจจุบัน

ชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) หนึ่ง ใน Speaker ที่แลกเปลี่ยนมุมมองบนเวที SB’18 BKK เรื่อง Technology for Social Collaboration เมื่อ 13 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้ยกตัวอย่างในเรื่อง Planet ตั้งแต่โครงการปลูกป่า 1 ล้านไร่ ตั้งแต่ปี 2537 กระทั่งวันนี้กลายเป็นผืนป่าที่ครอบคลุม 56 จังหวัด สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 37 ล้านตันต่อปี และคายออกซิเจนมากถึง 29 ตันต่อปี

“ไม่เพียงช่วยให้ระบบนิเวศน์กลับคืนมาเท่านั้น ชุมชนรอบๆ ก็สามารถใช้ประโยชน์จากป่า ซึ่งทำให้เขารู้ว่าปลูกป่าได้มากกว่าต้นไม้ได้องค์ความรู้ที่มีคุณค่าในการพัฒนาคุณภาพชีวิต และสร้างจิตสำนึกที่ดีให้กับคนไทยโดยเฉพาะชุมชนที่อยู่ในพื้นที่โครงการปลูกป่า”

เพื่อให้เกิดความยั่งยืน กลุ่ม ปตท. ยังได้จัดตั้งสถาบันลูกโลกสีเขียเพื่อยกย่อง เชิดชู และให้กำลังใจแก่บุคคล ชุมชน กลุ่มเยาวชน และสื่อมวลชนที่เป็นแบบอย่างด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรวมถึงโครงการรักษ์ป่าสร้างคน 84 ตำบลวิถีพอเพียง ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่จะให้ชุมชนรู้จักตัวเองและนำมาวางแผนในการจัดการวิถีชีวิตของชุมชนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต

นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการพัฒนาศูนย์เรียนรู้การปลูกและการฟื้นฟูป่าเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้สู่สาธารณชน ภายใต้โครงการป่าวังจันทร์ จังหวัดระยอง และป่าในกรุง บนถนนสุขาภิบาล 2 รวมถึงการสร้างศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ที่พลิกฟื้นจากพื้นที่นากุ้งร้าง เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนระดับประเทศและภูมิภาค รวมถึงเป็นพื้นที่ต้นแบบการบริหารจัดการพื้นที่ป่าอย่างยั่งยืน

“การปลูกป่าปลูกง่ายครับ แต่การรักษายากกว่า ดังนั้นวิธีคิดของเรา ไม่ใช่ว่าปลูกป่าเสร็จแล้วก็แล้วกัน ที่ผ่านมาเราจึงเน้นการปลูกฝังไปสู่เยาวชนให้เขาเห็นคุณค่าของทรัพยากร และยังได้สร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมเพื่อให้ป่ายังคงสมบูรณ์ต่อไป อย่างป่าในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และพิษณุโลก มีความอุดสมบูรณ์มากครับ เราจึงได้ร่วมมือกับอาจารย์ภายในพื้นที่ดังกล่าวคอยตรวจดูทุก 3 ปี เพื่อให้ป่ายังคงเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ต่อไป”

อีกด้านหนึ่ง GC ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ในฐานะผู้ผลิตเม็ดพลาสติกรายใหญ่ ก็ยังนำพลาสติกมาก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยพยายามผลักดันโมเดล Circular Economy ผ่านโครงการ Upcycling the Oceans Thailand

ล่าสุด กลุ่ม ปตท. เป็นแกนนำในการใช้โมเดล Social Collaboration เข้ามาช่วยรักษาธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ด้วยการจับมือกับบริษัทเอกชนชั้นนำกว่า 40 ราย ที่มีความเชี่ยวชาญแตกต่างกันมาร่วมมือกันฟื้นฟูเรื่องสิ่งแวดล้อม อย่างโครงการ OUR Khung Bang Kachaoเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่ากลุ่ม ปตท. ใช้ความร่วมมือดังกล่าวในการวางเป้าหมายยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนและสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นและเติบโตขึ้นร้อยละ 20 ใน 5 ปี โดยเน้นร่วมมือรูปแบบสานพลังร่วมเพื่อพัฒนาสังคม 6 ด้าน ได้แก่พื้นที่สีเขียว จัดการน้ำและการกัดเซาะริมตลิ่ง จัดการขยะ ส่งเสริมอาชีพ ท่องเที่ยว และเยาวชนและการศึกษา

“เราอยากให้บางกระเจ้าเป็นพื้นที่แลนด์มาร์คของเมืองไทย มีความยั่งยืน เขียว สะอาด และเป็นสถานที่ที่มีเสน่ห์ให้กับชาวโลก”

ที่สำคัญ กลุ่ม ปตท. ได้อาศัยยุคการเปลี่ยนถ่ายสู่ดิจิทัล หรือ Digital Transformation ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในด้านสังคม และสิ่งแวดล้อมด้วย

“กว่า 20 ปีแล้วที่ กลุ่ม ปตท. ได้ลงทุนในด้านดิจิทัล ซึ่งต่อไปเราจะนำมาใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ นอกจากด้านธุรกิจ อย่างการสำรวจและผลิตพลังงาน เราใช้โดรนไปสำรวจเกาะกลางทะเล และวางท่อน้ำใต้ทะเลธุรกิจก๊าซธรรมชาติ เราใช้เทคโนโลยี AI ในขณะที่ธุรกิจน้ำมัน เราได้มีการนำเทคโนโลยีบิ๊กดาต้า และ Data Analytic เข้ามา ซึ่งภาพเทคโนโลยีต่างๆ เหล่านี้ที่เรานำมาใช้กับบริษัทในเครือทั้งหมด ต่อไปจะถูกนำมาใช้ในภาคสังคม และสิ่งแวดล้อมด้วย” ชาญศิลป์กล่าวให้คำสัญญาในท้ายที่สุด

Cr.ภาพ Thapanee Kiatphaibool

เรื่องเกี่ยวข้อง

You Might Also Like