10 ตุลาคม 2561…กระแสการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนกลายเป็น Issue หลักที่ผู้ประกอบการในปัจจุบันกำลังหันมาให้ความสนใจ และหากระบวนการที่จะ Redesign ธุรกิจเพื่อให้เกิด Good Business & Good Brand
สกุลทิพย์ กีรติพันธวงศ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง และกรรมการผู้จัดการ วิสาหกิจเพื่อสังคม ไนส์คอร์ป และเป็นหน่วยงานสำคัญในการก่อตั้งและขับเคลื่อนมาตรฐาน B CORP ให้มุมมองของการ Redesign Good Business & Good Brand ว่า มีปัจจัยหลายอย่างที่เข้ามาเป็นแรงกระตุ้น โดยเฉพาะการถูกผูกโยงกับประเด็น “ความเสี่ยงทางธุรกิจ” ยิ่งในยุคดิจิตอลทำให้ข้อมูลข่าวสารเผยแพร่ไปได้อย่างรวดเร็ว ยิ่งเป็นปัจจัยผนวกให้ผู้ประกอบการเพิ่มความระมัดระวังในด้านของภาพลักษณ์แบรนด์ ประกอบกับยุคนี้เป็นยุคที่ผู้บริโภคฉลาดมากขึ้น (Pro-consumer) ที่ไม่ได้แค่ซื้อสินค้า และบริการเพียงอย่างเดียว แต่มีดีมานด์มากกว่านั้น เนื่องจากการให้ความสำคัญถึงที่มาที่ไปของสินค้าว่ามีวัตถุดิบดีหรือไม่ ผลิตโดยใคร หรือจากชุมชนอะไร
“นับวันแบรนด์ยิ่งถูกผูกโยงให้ผู้บริโภคซึมซับสินค้าและบริการในแง่ Emotional มากขึ้น ทำให้ภาคธุรกิจต้องกลับมาคิดแล้วว่า การทำธุรกิจแบบเดิมไม่สามารถตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปได้ เพราะมันจะส่งผลเสี่ยงในแง่ธุรกิจ เมื่อไหร่ที่แบรนด์หรือองค์กรของคุณไม่เป็น Good Citizen ข้อมูลข่าวสารมันแพร่กระจายไปเร็วมากเพียงข้ามคืน และส่งผลเสียให้กับแบรนด์ได้อย่างมหาศาล”
ดังนั้น ความเสี่ยงของการทำธุรกิจในตอนนี้ ผู้ประกอบการจึงไม่สามารถมองตัวเลขของกำไรเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมองบริบทอื่นด้วย ซึ่งความจริงแล้วการเป็น Good Citizen เชื่อมโยงกับกำไรโดยตรง เพราะผู้บริโภคจะเปลี่ยนใจ ไม่ซื้อสินค้าหรือบริการทันที หากเขาคิดว่าไม่อยากสนับสนุนแบรนด์ที่ไม่เป็น Good Citizen และนั่นก็หมายถึงมาร์เก็ตแชร์ของแบรนด์ที่จะหดหายไป สุดท้ายแล้ว Redesign Good Business & Good Brand จึงเป็นกระบวนการที่จะส่งผลสะท้อนกลับมาที่ Bottom Line ให้กับธุรกิจนั่นเอง
ในฐานะผู้ขับเคลื่อนมาตรฐาน B CORP สกุลทิพย์ กล่าวว่า ภาคเอกชนหลายรายเริ่มรู้แล้วว่าRedesign Good Business & Good Brand คือกลยุทธ์ที่สำคัญในการทำธุรกิจยุคใหม่ ที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน และลูกค้ามี Brand Loyalty
“แต่เราก็พบว่ามีผู้ประกอบการธุรกิจไม่น้อยที่มองเห็นเรื่องนี้ แต่กลับไม่ให้ความสำคัญ ดังนั้นเราจะผูกโยงให้เขาเห็นได้ยังไงว่า Redesign Good Business & Good Brand ส่งผลดีกับธุรกิจโดยตรง และหากไม่ทำก็จะกลายเป็นความเสี่ยงให้กับธุรกิจในอีก 4-5 ปี หรือแค่ข้ามคืนก็ล่มสลายลงได้ โดยเรามักจะยกตัวอย่างกรณีศึกษาแบรนด์ต่างๆ ที่ไม่ใส่ใจกับ Redesign Good Business & Good Brand ว่าส่งผลเสียอย่างไร จริงๆ ไม่ใช่แค่ให้เขาเกิด Awareness แต่ต้องให้เขามี Experience ว่าจำเป็นต้องทำแล้ว เหมือนคุณอ้วน อยากหุ่นดี คุณต้องออกกำลังกาย ก็จะทำให้เขารู้ว่าเรื่องนี้ผูกโยงกับธุรกิจโดยตรง มันไม่ใช่เรื่องของกำไร หรือหาความมั่งคั่งให้กับผู้ถือหุ้นอย่างเดียวอีกต่อไป แต่มันเป็น New Normal ของการทำธุรกิจให้เติบโตต่อไป เรื่องนี้ยิ่งแบ่งปันยิ่งดี ยิ่งส่งผลไปถึงมาร์เก็ตแชร์ การรักษาฐานลูกค้ารวมถึงขยายลูกค้าในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ตระหนักถึง Good Brand Citizen”
ที่ผ่านมา B CORP ยังทำงานร่วมกับภาครัฐ และสถาบันการศึกษาเพื่อสร้างเครือข่ายให้เกิดกลไกการขับเคลื่อนได้เร็วขึ้น
“บ้านเรายังไงก็ต้องอาศัยกลไกทางการตลาด เราจับมือกับภาครัฐ ในฐานะผู้กำหนดนโยบาย ซึ่งอาจจะสามารถกระตุ้นให้ภาคเอกชนตื่นตัวมากขึ้น เพราะกระบวนการ Redesign Good Business & Good Brand บางอย่าง ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับกระบวนการภายใน เช่น การลด Carbon Footprint ซึ่งอาจจะลงทุนเองไม่ได้ทั้งหมด หากภาครัฐสามารถ Subsidies หรือให้ Incentive อะไรบางอย่าง ก็จะเร่งให้ภาคเอกชนเปลี่ยนแปลงได้มากขึ้น”
ขณะเดียวกัน B CORP ก็ไปทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย เพื่อปลูกฝังให้เยาวชนคนรุ่นใหม่เกิด Awareness ในเรื่องนี้มากขึ้น
“ในฐานะที่ B CORP เป็น Standardize การจะทำงานเพื่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง จำเป็นต้องหาภาคี ซึ่งเรามองว่าสถาบันการศึกษาเป็น Resource ที่สำคัญ เราต้องอาศัยทีมอาจารย์ในการ Educate โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่จะกลายเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อในอนาคต อีกอย่างหนึ่งเรามองว่า Redesign Good Business & Good Brand ควรจะฝังอยู่ในหลักสูตรของมหาวิทยาลัยด้วยซ้ำ”
สกุลทิพย์ ยังมองว่า “สื่อ” จะเป็นตัวกลางที่เข้ามามีส่วนให้เกิดพฤติกรรมการเปลี่ยนแปลงในวงกว้างมากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างกระแสพลาสติกที่ส่งผลกระทบต่อสัตว์ และสิ่งมีชีวิตในท้องทะเล แค่เหตุการณ์นี้เหตุการณ์เดียวก็ทำให้เกิดพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงกับใครหลายคน และได้กลายเป็น Influencer ให้กับคนอื่นด้วย แต่เมื่อข่าวซาซักพัก คนก็จะลืมตามสไตล์คนไทย ดังนั้นการที่สื่อกระจายข่าวในลักษะนี้ไปเรื่อยๆ จะทำให้ Redesign Good Lifestyle กลายเป็น New Normal ให้กับสังคม
“แต่เราต้องยอมรับว่า อาจจะต้องมีกลไกในการบังคับร่วมด้วย เช่น รีเทลค่ายต่างๆ รณรงค์การไม่ใช้ถุงพลาสติก หรือเก็บเงินค่าถุงพลาสติกใส่ของ หรือให้ Incentive หากนำถุงมาเอง เป็นต้น นี่แหละคือบทบาทที่เอกชนจะเข้ามามีส่วนสำคัญ แต่อาจจะต้องอาศัยผู้นำองค์กรที่กล้าจะเปลี่ยนแปลง โอเคเขาอาจจะต้องรับผลกระทบอะไรบางอย่างกับธุรกิจ แต่มันก็อาจจะเป็นผลกระทบเชิงบวกก็ได้”
สกุลทิพย์กล่าวในท้ายที่สุดว่า กำลังพยายามทำให้ Redesign Good Business & Good Brand กลายเป็น New Normal ไม่ใช่การทำดีเป็น “แกะดำ” แต่ควรทำให้ธุรกิจตระหนักว่า ถ้าไม่ทำเรื่องนี้จะเป็น “แกะดำ” ดังนั้นในการจะเปลี่ยนให้ธุรกิจไทยมุ่งไปสู่ปลายทางนั้นได้ ต้องมี “สื่อ” นำ และมี Content Awareness โดยมี Global Movement เข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อชี้ให้เห็นว่า ถ้าธุรกิจไทยไม่ขยับ จะมีความเสี่ยงอย่างไร
รวมเรื่องเกี่ยวข้อง
– TALK