TALK

‘สมชัย เลิศสุทธิวงค์’ ชูโมเดล “ปลาใหญ่ ช่วยปลาเล็ก” สร้าง Ecosystem เสริมเกราะองค์กรยุคใหม่แข็งแรงอย่างยั่งยืน

19 มีนาคม 2564…สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส เจ้าของรางวัล BEST CEO กลุ่มเทคโนโลยี ปี 2020 เผยวิสัยทัศน์ในประเด็น “วัคซีนมา ธุรกิจไทยจะฟื้นไวหรือไต่ช้า” ในงานสัมมนา IAA Seminar 2021 ซึ่งเชิญ BEST CEO ที่ได้รับรางวัลแต่ละกลุ่มมาแลกเปลี่ยนมุมมอง เวทีนี้จัดโดยสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET)

สมชัย ไม่ปฏิเสธว่าเอไอเอสได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 แม้ว่ายอดการใช้งานจะเพิ่มขึ้นถึง 30 – 40% แต่รายได้กลับลดลงทั้งอุตสาหกรรมประมาณ 5% นั่นเป็นเพราะกำลังซื้อของคนอ่อนตัวลงมาก แต่ภายใต้ผลกระทบดังกล่าว ยังเห็นถึงaข้อดีที่เกิดขึ้น นั่นคือเรื่อง Digital Disruption ,Digital Transformation ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนรู้ว่าต้องปรับ เพราะการที่เป็นองค์กรดิจิทัลนั้น ไม่เพียงช่วยธุรกิจเอไอเอส แต่ช่วยทุกอุตสาหกรรม โดยจะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพมาก ๆ ก่อนโควิด-19 จึงเป็นการทยอยปรับ จนกระทั่งเข้าสู่ยุคโควิด-19 เรื่องนี้ได้กลายเป็นความเร่งด่วน

“กรณีของ 5G แม้ว่าเอไอเอสประมูลมาได้แล้ว แต่ผมบอกทุกเวทีว่า ต้องใช้เวลา 2 ปี จึงจะเกิด เพราะ Device ยังไม่มี Ecosystem ยังมาไม่ครบ แต่พอโควิด-19 มาถึง เราลงทุนเพิ่มเติม นำ 5G ไปร่วมทำงานกับโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ไปร่วมผลิต ทำให้เกิดประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้น อัตโนมัติมากขึ้น”

ตัวอย่างข้างต้นนับเป็นส่วนหนึ่งที่เอไอเอส Transform ตามนโยบายเมื่อ 6 ปีที่แล้วที่สมชัยรับตำแหน่ง CEO ใหม่ ๆ แม้ว่าขณะนั้น เอไอเอสแข็งแรงมาก ๆ ในการเป็น Mobile Operator หมายเลข 1 ของประเทศไทย แต่ในเวลานั้นต้องประกาศ Transform เพื่อให้เอไอเอสเป็น Digital Service Provider เนื่องจากในอนาคตของมนุษยชาติ ไม่ได้ต้องการเพียงแค่การติดต่อสื่อสารเท่านั้น แต่ต้องการให้ดิจิทัล เซอร์วิส มาช่วยตอบโจทย์การใช้ชีวิตในหลาย ๆ ด้าน กินดี อยู่ดี ทำงานได้ดี ซึ่งความสำเร็จนี้ จะเกิดขึ้นได้ภายในองค์กรเอไอเอสจะต้อง Transform จาก Core Business ซึ่งในเวลาต่อก็เกิด เอไอเอส ไฟเบอร์ ฟิกซ์บรอดแบนด์ และการดำเนินธุรกิจด้าน Enterprise เป็นต้น

“การมีฟิกซ์ บรอดแบนด์ และ Enterprise ยังนับเป็นเรื่องคอนเนคชั่นทั้งสิ้น แต่ตัวแอปพลิเคชัน ดิจิทัล เซอร์วิส เป็นเรื่องสำคัญมากที่เอไอเอสต้องทำ ซึ่งในประเทศไทยยังไม่มีใครทำได้ เพราะวันนี้ ที่เกิดขึ้นแล้วคือเฟสบุกกูเกิล ยูทูป ซึ่งมีเม็ดเงินจากธุรกิจโฆษณามากมายที่ไหลสู่แพลตฟอร์มดังกล่าว ซึ่งเอไอเอสประกาศที่จะทำดิจิทัล แพลตฟอร์มให้ได้ ซึ่งหากทำได้ เรามี New Source of Revenue และมีโอกาสที่จะนำแพลตฟอร์มไปร่วมทำงานกับทุก ๆ อุตสาหกรรมได้ทั้งหมด เราขอ Revenue Sharing 10% เราเองมีรายได้เพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าตัว”

3 เรื่อง สู่โมเดลธุรกิจใหม่ ฉบับเอไอเอส

อย่างแรก คือ ต้องคิดหา Business Model แบบใหม่ ๆ ไม่ได้ทำแบบเดิม แบบเดิมคือลงทุนสร้างเน็ตเวิร์ค สร้างอินฟราสตรัคเจอร์เข้ามา ซื้อของเข้ามาคำนวณค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ออกมา ควรจะต้องขายได้เท่าไหร่ กำไรเท่าไหร่ แต่หากจะทำดิจิทัล เซอร์วิส ต้องหาบิสสิเนสแบบใหม่ โมเดลใหม่ เช่น อาจจะลงทุน ไม่ได้กำไรจากการลงทุนนั้น แต่จะมีรายได้จากการโฆษณา เป็นต้น

อย่างที่ 2 เอไอเอส เป็นองค์กรที่มีคนเก่งมากในธุรกิจโทรคมนาคม แต่ถ้าหากเราจะเข้าไปสู่ธุรกิจใหม่ จะต้องหา New Ability หรือ Skill Set ใหม่ เราต้องฝึกฝนคนของเราใหม่เลย เช่น อยากทำเรื่องวิดีโอ เอไอเอส เพลย์ คนของเอไอเอสเก่งเรื่องมาร์เก็ตติ้ง เทเลคอม อย่างเดียวไม่ได้ ต้องไปเก่งทางมาร์เก็ตติ้ง คอนเทนต์ จะทำอย่างไร ซึ่งต้องไปเรียนรู้ใหม่ ต้องเสริมทัพคนที่ทำเรื่องพวกนี้ได้เข้ามา อันนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งนอกจากบิสสิเนสโมเดลใหม่แล้ว Skill Set ของคนก็ต้องทำแบบใหม่ด้วย

และอย่างที่ 3  Ecosystem เอไอเอสจะเป็น Business Partner กับอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อให้คนเก่ง ๆ แต่ละด้าน มาโฟกัสในเรื่องใหม่ ๆ ที่จะทำ

“เมื่อเรามีบิสสิเนส โมเดลใหม่ มี Skill Set ที่ดี และ พาร์ทเนอร์ หรือ Ecosystem ที่ดี ผมว่า 3 อย่างสมบูรณ์ ตอบโจทย์ได้ สำเร็จหรือไม่สำเร็จไม่ทราบ แต่เราได้ทำถูก ได้ลองทำ นี่คือสิ่งที่เอไอเอสจะเคลื่อนไป เมื่อเราทำสำเร็จ เอไอเอสจะโตอีก 1 เท่าเลย”

สมชัย ยกตัวอย่างสิ่งใหม่ที่ได้เริ่มทำแล้วคือ AIS PLAY ซึ่งมีคนดูอยู่ 4 ล้านที่แอคทีฟ ส่วนที่สมัครไว้ 8 ล้าน โดยทั้งหมดเป็นฐานลูกค้าเอไอเอส ในส่วนนี้เอไอเอสยังไม่ได้ทำโฆษณา ยังไม่ได้เก็บเงินจากผู้เข้าชม ซึ่งแพลตฟอร์มดังกล่าวเป็นการทำธุรกิจในประเทศเป็นสนามที่แข่งขันกันอยู่ และเอไอเอสมีโอกาสในสนามนี้ เพราะเมื่อค้นพบจากงานวิจัยแล้ว วันนี้ยูทูปดังมาก แต่ 80 – 90% ของคนไทยที่เข้าดูยูทุป ไปดูคอนเทนต์ของไทยทั้งสิ้นเลย ที่เหลือเป็นการดูคอนเทนต์จากต่างประเทศ แต่คนทำคอนเทนต์ในเมืองไทย ต้องไปพึ่งแพลตฟอร์มของยูทูป

สมชัยกล่าวต่อเนื่อง ถ้าเราสามารถสร้างแพลตฟอร์มของคนไทยได้ สร้างกับพาร์ทเนอร์เอไอเอสได้ แล้วคนไทยยอมเข้ามาดู ไม่ต้องไปแข่งกับต่างประเทศ เจาะจงเฉพาะเมืองไทย คนทำคอนเทนต์ก็จะมีความสุข ลงทุน 100 บาท เอไอเอสขอ 10 – 20 บาท ผู้ผลิตคอนเทนต์ได้ 80 – 90 บาท นี่คือแนวคิดที่จะทำ

“โมเดลของเอไอเอสขัดแย้งกับสิ่งที่บอกว่า ปลาใหญ่กินปลาเล็ก แต่เอไอเอสอยากเป็นปลาใหญ่ช่วยปลาเล็ก เพราะธุรกิจในระยะยาว หากเราไม่เติบโตแบบยั่งยืนได้จริง ๆ คือตายหมด เช่นถ้าวันนี้ เอไอเอสใหญ่มากเลยรายอื่นตายหมด แล้ววันหนึ่งเราจะตายตามไปด้วย เพราะไม่มีใครมาบริโภคหรือซื้อสินค้าเรา เพราะฉะนั้นองค์กรใหญ่ ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องเป็นพี่ใหญ่ คอยช่วยเหลือน้องเล็กให้ได้ ต้องเป็นปลาใหญ่ช่วยปลาเล็กแหวกว่ายออกไปจากคลื่นใหญ่ที่กำลังเข้ามาอีกหลายเรื่อง เมื่อร่วมมือใน Ecosystem ได้ จะแข็งแรงทั้งหมด ต้องเปลี่ยนโครงสร้างการทำธุรกิจในการดึงคนเล็กขึ้นมา”

สมชัยกล่าวย้ำในท้ายที่สุด ขอให้นักลงทุนมั่นใจหุ้นเอไอเอสมั่นคงแข็งแรง ไม่ใช่หุ้นจิ๊กโก๋ ไม่หวือหวาขึ้นลงเยอะแยะ แต่ Stable ในเรื่องการจ่ายเงินปันผล ที่ทำแบบนี้ได้ตลอดเวลาเพราะโฟกัสใน Core Business แม้จะอยู่ในการแข่งขันรุนแรงมากทุกรูปแบบ ยังสามารถรักษาความเป็นผู้นำ และมีการเติบโตทุกปี ตามจีดีพีของประเทศ

 

You Might Also Like