16 กุมภาพันธ์ 2563…ศิลปะยึกยือ (Yukyur) คือ กระบวนการพัฒนาจิตที่นำไปสู่สันติภาพซึ่งเชื่อมโยงไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ในแง่ของการพัฒนาคน นับเป็นครั้งแรกของกระทรวงการต่างประเทศ ที่เปิดพื้นที่แสดงงานศิลปะ บริเวณโถงวิเทศสโมสร และมีคณะทูตมาร่วมงานจำนวนมาก โดยงานแสดงศิลปะดังกล่าวคือ “ศิลปะยึกยือ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” เป็นผลงานของอดีตเอกอัครราชทูตพลเดช วรฉัตร 500 กว่าภาพที่ท่านทูตฯ วาดในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา รวมถึงผลงานของเยาวชนที่ได้เรียนศิลปะยึกยืนกับท่านทูตฯ พลเดช
“หลายคนที่ชมภาพบอกว่าประทับใจ และสามารถที่จะร่วมมือกันได้ในการสร้างกิจกรรมเพื่อพัฒนาเยาวชนต่อไป เช่นท่านทูตฯ มัลดีฟ ซึ่งเป็นต้นทางการเกิดศิลปะยึกยือ บอกว่า น่าจะได้เริ่มทำงานด้วยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนกันต่อไป”
ท่านทูตฯ พลเดช ได้เริ่มต้นฉายภาพกว้าง ๆ ของศิลปะยึกยือ โดยศิลปะยึกยือเกิดจากความงามของท้องทะเลมัลดีฟ เมื่อครั้งเคยเป็นเอกอัครทูตที่นั่น ได้เก็บความงดงามเหล่านั้นมาใช้ในการลากลายเส้นและทำให้เกิดผลงานศิลปะ มีความเป็นเอกลักษณ์ส่วนตัว ส่งผลให้เกิดสมาธิ มีสติเกิดจินตนาการ เกิดความอดทน เกิดการวางแผน เกิดสันติภาพ แสดงให้เห็นความร่วมมือทุกภาคส่วน
“ศิลปะที่ดีคือการพัฒนาจิต เพราะฉะนั้นหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างหนึ่ง คือการพัฒนาร่างกายสุขภาพและจิตใจ พัฒนาคุณภาพมนุษย์และสิ่งแวดล้อม พัฒนาสัตว์ สิ่งแวดล้อม”
SD Perspectives : งานศิลปะโดยทั่วไปต้องใช้สมาธิ ความสร้างสรรค์เช่นเดียวกัน
ท่านทูตฯ พลเดช : งานทุกอย่างก็ต้องใช้สมาธิ ศิลปะมีหลักการสำคัญคือ กระบวนการที่เกิดขึ้นในจิตใจของผู้วาด ยึกยือครบองค์คือการต่อเนื่องไป ต่อเนื่องไป หลักการศิลปะยึกยือคือการใช้ลายเส้นอิสระ ลายเส้นประณีต และ “การไม่ยกปากกา” อันนี้คือการทำให้เกิดการพัฒนาจิตข้างในถือเป็นเอกลักษณ์ที่ผมค้นพบเองเลย เป็น Founder & Master ของกระบวนการนี้เลย การเคลื่อนไหวโดยไม้ยกปากกา ทำให้จิตต้องจดจ่ออยู่กับการเคลื่อนไหว ถ้าลาเส้นนี้ยาวเท่าไหร่ สมาธิก็ยาวขึ้นเท่านั้น นี่คือการฝึกโดยตรงเป็นการปฏิบัติธรรมยุค ใหม่ อยู่กับปัจจุบันซึ่งได้ผลงานศิลปะด้วย
SD Perspectives : ท่านทูตฯ บอกว่าศิลปะยึกยือเกิดจากความงามของท้องทะเลมัลดีฟ
ท่านทูตฯ พลเดช : นี่คือลายเส้นในน้ำที่มัลดีฟ ซึ่งหลายคนไปทะเล จะบอกทะเลสวย ๆๆๆ แต่ไม่ได้มองตรงนี้ ผมมองเห็นเป็นลายเส้น ลายเส้นที่เกิดขึ้นมาจากตรงนี้ ผมเริ่มวาดจากตรงนี้โดยนึกถึงความงามของทะเลมัลดีฟ ครั้งแรกที่เริ่มวาด วาดโดยไม่ยกปากกา แต่ไม่รู้ว่านี่คือเทคนิค วาดไปเรื่อย ๆ วาดไปเรื่อย ๆ วาดไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งนึกได้ว่าคือลายเส้นยึกยือ เปิดพจนานุกรม พบว่า “ยึกยือ” คือลายเส้นที่ไม่เป็นระเบียบ วนไปวนมา ก็คิดต่อว่าอันนี้เอามาทำงานศิลปะได้หรือไม่ ก็ลองทำ เอ๊ะ ! ทำได้นะ ก็พัฒนาไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งกลายเป็นงานศิลปะ
SD Perspectives : มาถึงกระบวนการพัฒนา และคลี่คลายเป็นหัวใจศิลปะยึกยือ
ท่านทูตฯ พลเดช : หลังจากเริ่มต้นได้ไม่นาน ก็พบเองว่ามีกระบวนการลายเส้น 1 แบบคือลายเส้นประณีตต้องเท่ากันทั้งหมด ซึ่งความยากอยู่ตรงนี้ นั่นหมายถึงสมาธิต้องมากขึ้น เนื่องจาก “ลายเส้นอิสระไม่ต้องสอนเพราะทุกคนทำได้หมด” แต่ความยาก และมีสมาธิคือ “ต้องไม่ยกปากกา” นี่คือหัวใจหลักคือ “การเคลื่อนไหวที่ต่อเนื่อง” อยู่กับปัจจุบัน ถ้าลายเส้นยาวเท่าไหร่ นั่นคือสมาธิยาวขึ้นเท่านั้น
SD Perspectives : ก้อนหินมีความเกี่ยวข้องกับศิลปะยึกยืออย่างไร
ท่านทูตฯ พลเดช : จริง ๆ แล้วลายเส้นจากทะเลเหมือน Annimation ความเคลื่อนไหวต่อเนื่อง 1 2 3 คล้ายกับก้อนหิน ก้อนหินเป็นสัญลักษณ์ของอุปสรรค และได้ข้อคิดด้วย การจะทำอะไรให้สำเร็จต้องเริ่มจากก้อนหินเล็ก ๆ เมื่อสามารถผ่านอุปสรรคได้ ก้อนหินก็เสมือนภูเขา เพราะฉะนั้นจะทำอะไรในชีวิตต้องเริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ และเมื่อเด็กวาดแพทเทิร์นก้อนหินก้อนเดียวเท่ากับว่ามีค่าแล้ว แล้วเขาก็มีกำลังใจที่จะทำงานตามจินตนาการ
SD Perspectives : ท่านทูตฯ เล่าถึงเทคนิคการวาดภาพศิลปะยึกยือจะต้องทำอย่างไรบ้าง ทำไมต้องสีดำ
ท่านทูตฯ พลเดช : การวาด แล้วแต่เลยว่าจะต้องร่างก่อนหรือไม่ต้องร่าง อย่างผมชำนาญแล้วไม่ต้องร่าง เพราะภาพมาจากจินตนาการ หรือจะใช้ดินสอร่างก็ได้ เพราะก็คือลายเส้นประเภทหนึ่ง ใส่ลายเส้นอิสระ ใส่ก้อนหินเข้าไป เป็นเอกลักษณ์ ถ้าไปทำอย่างอื่นก็ไม่ใช่ศิลปะยึกยือ การใช้สีอื่น ๆ สีจะฟุ้ง การใช้สีดำสะท้อนให้เห็นความมืด สว่าง ดี ชั่ว ต้องการให้เรียนรู้จุดนี้ ใช้ดำ บนกระดาษขาว จะได้ไม่ฟุ้ง จะได้อยู่กับธรรมชาติของสี ของก้อนหิน มีมืดก็มีสว่าง มีดำก็มีขาว มีบุญก็มีบาป คู่กัน สะท้อนตรงนี้ด้วย เกี่ยวข้องกับชีวิตด้วย
SD Perspectives : ในฐานะผู้วาดภาพศิลปะยึกยือ และผู้ดู เราได้อะไร
ท่านทูตฯ พลเดช : สิ่งที่เกิดขึ้นในศิลปะยึกยือคือ กระบวนการ สมาธิ สติ จินตนาการ ความอดทน การวางแผน พัฒนาตนเอง ทั้งหมดทำให้เกิดสันติภาพของโลก นี่คือคือ Good Health and Well Being ไม่ใช่เฉพาะร่างกายอย่างเดียว แต่ต้องมาจากใจ พัฒนาสุขภาพอย่างเดียวไม่ได้ ศิลปะยึกยือพัฒนาใจ จะมีผลต่อสุขภาพด้วย เมื่อจิตใจดี สุขภาพก็ดีขึ้น Quality Education คือการลงมือทำจริง
SD Perspectives : ศิลปะยึกยือ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างไร
ท่านทูตฯ พลเดช : การพัฒนาจิตใจ จะมีผลต่อสุขภาพทีดี จะเป็นการพัฒนามนุษย์อีกมุมหนึ่ง เด็กทุกคนมา ผู้ใหญ่หลายคนมาอยู่ร่วมกัน คือเรื่องราวของ Partnership มาเพื่อพัฒนาจิตใจตัวเอง นับเป็นสันติภาพ หรือใต้ท้องทะเล สัตว์ป่าก็มีในการอนุรักษ์ ซึ่งที่กล่าวถึงเป็นส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับ Sustainable Development Goalds 17
SD Perspectives : การเผยแพร่ศิลปะยึกยือของท่านทูตฯ
ท่านทูตฯ พลเดช : เวลาผมส่วนใหญ่ตอนนี้ให้กับศิลปะยึกยือและการไปสอน ตามที่เชิญมา ฟรีทั้งหมด เพื่อเป็นกุศล และปลูกฝังให้เด็ก ๆ เข้าใจเรื่อง SDGs ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าเกิดประโยชน์ รวมถึงเด็กพิเศษ เคยไปสอนที่มูลนิธิเด็กหญิงบ้านราชวิถี บ้านราชาวดี หลังสอนจบ 4 ครั้ง เด็กมีพฤติกรรมที่ดีขึ้นกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัดเพราะเขามีสมาธิดีขึ้น ได้ปลดปล่อย ได้อยู่กับปัจจุบัน ได้จินตนาการ ส่วนเด็กที่เรียนกับผม ก็เอานำไปสอนต่อเพื่อน ๆ พระที่เรียนก็นำไปสอน
SD Perspectives : เป้าหมายศิลปะยึกยือ
ท่านทูตฯ พลเดช : ศิลปะยึกยือไม่ได้ต้องการนำไปขาย แต่ทำเพื่อกุศลให้คนรู้จักลองวาด
“เพราะศิลปะยึกยือคือความเท่าเทียม” ปากกาด้ามเดียว ทำให้เด็กสามารถพัฒนาตัวเองได้ ผมมองในเด็กยากจน เด็กในสลัม ทั้งในประเทศ หรืออย่างอัฟริกาสามารถทำได้ ถ้าเขารู้วิธี นี่คือเป้าหมายเพื่อการพัฒนาโลกที่ยั่งยืน
ผู้สนใจสามารถเรียนกับท่านทูตฯ พลเดชได้ในวันพฤหัสที่ 3 ของทุกเดือน โดยท่านทูตฯ จะสอนที่ห้องสมุดกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งจะมีคนนอกมาเรียนด้วยเวลา 13.00-14.30 น.
ข้อมูลเพิ่มเติม